ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET), สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิด“ศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62” เพื่อผนึกกำลังจัดเวทีใหญ่“วาระประชาชน กำหนดอนาคตประเทศไทย” เวทีที่จะนำเสียงประชาชนจากทุกเวทีภูมิภาคและกรุงเทพมหานครฯ กว่า 20 เวที ส่งตรงถึง (ว่าที่) นายก จาก 7 พรรคการเมือง ได้แก่พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ณ Convention Hall ชั้น 2 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต ถ่ายทอดสดทางไทยพีบีเอสช่องดิจัทัล หมายเลข 3 และ facebook LIVE ทาง ThaiPBSFan ตั้งแต่เวลา 16.30-20.00 น.
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล กล่าวว่าเวทีดีเบตครั้งใหญ่ของไทยพีบีเอสมีความน่าสนใจโดดเด่น เพราะเป็นการรวบรวมโจทย์จากเสียงที่แท้จริงของประชาชน โดยการทำงานร่วมกันของภาคีศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ที่ได้ร่วมกันจัดเวทีฟังเสียงประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 20 เวที ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อสังเคราะห์เป็นนโยบายจากประชาชน ร่วมกับภาควิชาการและพันธมิตร ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ไทยพีบีเอสได้รวบรวมนโยบายต่างๆ เข้ากับข้อมูลเชิงสถิติ สกัดเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านการศึกษา ด้านสังคมสวัสดิการ ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมือง รวบรวมเป็นโจทย์ให้พรรคการเมืองตอบเข้าสู่เวทีดีเบตครั้งใหญ่ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ และเราจะจับตาการทำงานของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้เพื่อรายงานแก่ประชาชนต่อไป ตามแนวคิดที่ว่า “ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง”
ในวันที่ 15 มีนาคม ไทยพีบีเอสจัดเวทีใหญ่ “วาระประชาชน กำหนดอนาคตประเทศไทย” ที่จะนำเสียงประชาชน ส่งตรงถึง (ว่าที่) นายก จาก 7 พรรคการเมือง โดยเป็นเวทีที่รวบรวมและสกัดนโยบายจากเสียงประชาชนต่างๆ จากเวทีในภูมิภาค และเวทีร่วมกับเครือข่ายศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้งในกรุงเทพฯกว่า 20 เวที ได้เป็นนโยบายที่น่าสนใจ 5 นโยบาย ได้แก่ เศรษกิจ (ความเหลื่อมล้ำ การลงทุนภาครัฐและการจัดสรรทรัพยากร ปัญหาภาคการเกษตร) การเมือง (ปฏิรูประบบราชการและการปกครองส่วนท้องถิ่น คอร์รัปชั่น ความมั่นคงใหม่) การศึกษา (การจัดการศึกษา คุณภาพการศึกษา บุคลากร) สังคมสวัสดิการ (สังคมสูงวัย ระบบสวัสดิการ บริการสุขภาพและประกันสังคม ความยากจน) และสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมือง (ภัยพิบัติ มลพิษ การพัฒนาเมือง) โดยในเวทีครั้งนี้ผู้ชมจะได้ฟังวิสัยทัศน์ของ 7 พรรคการเมือง ร่วมด้วยทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่จะแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายพรรคการเมือง ได้แก่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการวิเคราะห์กระแสสื่อสังคมออนไลน์แบบเรียลไทม์ และบริการพิเศษ ภาษามือแบบเต็มจอสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน
ทั้งนี้ นายภราดร ปริศนานันทกุล จากพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามแสดงจุดยืนทางการเมือง ที่ถามว่า “ถ้าประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ถึงทางตัน ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เหลือภูมิใจไทย ที่ต้องตัดสินใจไปร่วมรัฐบาล พรรคจะยังยึดเงื่อนไขในการผลักดันเสรีกัญชา หรือจะยอมทิ้งนโยบายนี้ เพื่อให้ประเทศเดินต่อได้” ว่า นโยบายกัญชาเสรี เป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอต่อสังคม เพราะเราเชื่อว่ากัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ถ้าสุดท้ายแล้วเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ตนเชื่อว่า คนที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องเอาพรรคภูมิใจไทย
สำหรับตัวแทน 7 พรรคการเมือง ได้แก่ 1. นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา 2. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนา 3. นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่ 4. นายนพดล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย 5. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6. นายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ 7. นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย
นายภราดร ปริศนานันทกุล