รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยถึงภาพรวมโค้งสุดท้ายการเมือง ว่า จะมีการปล่อยหมัดเด็ดกันมาทุกพรรค กรณีพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชัดเจนว่า ไม่เอาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นไพ่ใบสุดท้ายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะเดียวกันท่าทีของพลเอกประยุทธ์ ที่เปลี่ยนไป และการปล่อยหมัดเด็ดคือคือ วลีที่กล่าวออกมาว่า “ขอให้กล้าไปกับผม” ก็อาจจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมไปถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถือเป็นหมัดเด็ดหรือไม่ แต่การออกมาเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังของการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ กลับส่งผลสะท้อนกลับมาที่นายสุเทพเอง เพราะหลังจากนี้คนที่จะไปเจรจาความกับนายสุเทพก็ต้องระวังนายสุเทพให้มากขึ้น การออกมาเปิดครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการออกมาทวงบุญคุณของนายสุเทพ ตนมองว่าการกรทำของนายสุเทพเป็นเพียงการสร้างอำนาจการต่อรองให้กับตัวเองเท่านั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเป้าประสงค์ของนายสุเทพ เพียงอย่างเดียว
รศ.สุขุม กล่าวต่อว่า ไพ่ใบสุดท้ายนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อประชาธิปัตย์ มีจำนวน ส.ส.มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ แต่หากว่าได้จำนวนส.ส.น้อยกว่า ก็ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์อาจจะต้องยอมถอยออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเปิดทางให้พลเอกประยุทธ์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้
รศ.สุขุม กล่าวด้วยว่า หลังการเลือกตั้งในการสรรหานายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะมีการเปิดเกมการเมืองใหม่ โดยการเร่งสรรหานายกรัฐมนตรีก่อน จากการนำเอาเสียงสนับสนุนที่มาจาก ส.ส.เพียง 126 เสียง บวกกับ ส.ว.จำนวน 250 เสียง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จากนั้นก็จึงค่อยดึงพรรคการเมืองเข้ามาสนับสนุนในรัฐบาลเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ นอกจากนี้ เชื่อว่าพรรคการเมืองอันดับ 3-4 จะกลายมาเป็นพรรคการเมืองเนื้อหอมทันที เพราะจำนวนส.ส.จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการออกตัวของพลเอกประยุทธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งก็น่าสนใจเพราะเชื่อว่าจะมีการดึงนักการเมืองจากพรรคอื่นเข้ามาสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่เชื่อว่าไม่น่าจะอยู่ครบเทอม เพราะในส่วนของรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน ข้อเสียของรัฐบาลผสม ที่เกิดการต่อรองกันในรัฐบาลจนนำมาซึ่งความขัดแย้งรัฐบาลจนสุดท้ายก็ต้องไปยุบสภาเลือกตั้งใหม่