ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้กล่าวถึงสภาพการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่โดยคาดการณ์ว่า
สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ ด้านการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ของ GDP ซึ่งยอดขายล้วนมาจากต่างประเทศ โดยประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่ตามหลังสหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก 3 ใน 4 ของ GDP ทั้งหมด และเชื่อว่าในปีนี้ เศรษฐกิจโลกโตช้ากว่าปีที่ผ่านมา โดยมาตรการ QE ร่วมกับมาตรการด้านภาษีของทรัมป์ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วในช่วง 2017 ทำให้ปัจจุบันนโยบายลดภาษีของทรัมป์กำลังจะหมดยุคไป
ตัวเลขของธนาคารกลางสหรัฐระบุว่า ในอีก 18 เดือนภาวะเศรษฐกิจจะถดถอย แต่ถ้ามีดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าดอกเบี้ยระยะยาว แบงก์ชาติอาจจะสามารถอุ้มเศรษฐกิจได้ หากเงินเฟ้อไม่สูง ส่วนภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ อย่าง เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี ต่างก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ภาวะเช่นนี้ “มีความไม่มั่นคง การลงทุนจึงแผ่วลง” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
สำหรับประเทศไทย ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ กระบวนการถ่ายโอนอำนาจระหว่างรัฐบาลชุดเก่ากับรัฐบาลชุดใหม่จะใช้เวลานาน คาดว่า เศรษฐกิจและกำลังซื้อจะชะลอตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ประกอบกับมีภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ต้องรอ
“ทำให้เศรษฐกิจในปีนี้โตไม่ได้มาก” สอดรับกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก หนี้ครัวเรือนยังค่อนข้างสูง รายได้ภาคการเกษตรแย่มาก เงินเฟ้อโดยรวมต่ำมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ต่ำกว่าสหรัฐโดยเฉพาะ 3-4 ปีให้หลัง เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาตลอดจากดัชนีราคาสินค้าส่งออกราคาขึ้นไป 5% ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา