นายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Komsarn Pokong แสดงความเห็นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมกัญชาในมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีนายเดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิ และมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ไปดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ทั้งที่อยู่ในช่วงนิรโทษกรรมตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ว่า ในบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหลักการสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายไว้ในลักษณะของบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลาเก้าสิบวัน โดยบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา ๒๒ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำนั้นเมื่อดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในกรณีที่เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๖/๕ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้สามารถครอบครองยาเสพติดให้โทษดังกล่าวได้ต่อไปจนกว่าการพิจารณาอนุญาตจะแล้วเสร็จ ในกรณีไม่ได้รับอนุญาต ให้ยาเสพติดให้โทษนั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือให้ทำลาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
(๒) ในกรณีนอกจาก (๑) ให้แจ้งการครอบครองต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ หากเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ สำหรับบุคคลอื่นเมื่อแจ้งการครอบครองแล้วให้ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือให้ทำลาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
ต้นกัญชาที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมในมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ไม่ต้องรับโทษ หากได้ดำเนินการตามที่กำหนดในบทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว ภายในช่วงเวลา 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ คือ ในช่วงเวลาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 -วันที่ 20 พฤษภาคม 2562
นายคมสัน ระบุว่า บทเฉพาะกาลและบทนิรโทษกรรม ในกฎหมายต่างๆ คือ บทกฎหมายที่บัญญัติให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งหรือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับกฎหมายนั้น ซึ่งหลักการของบทเฉพาะกาลตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 นั้น เป็นบทกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการยกเว้นการรับโทษในช่วงกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งการมีกฎหมายใหม่จะทำให้ผู้ครอบครองกัญชาไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องได้รับผลกระทบจากการมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ในการบัญญัติกฎหมายจึงต้องมีการกำหนดหลักการดังกล่าวไว้ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซึ่งกระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดจะได้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับ รวมทั้ง จะมีผลทำให้เป็นการลดการกระทำความผิดกฎหมายและได้ผลในการสมัครใจเข้าสู่การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการลดการก่ออาชญากรรมในรูปแบบมาตรการทางกฎหมายเชิงบวก ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับการกำหนดการนิรโทษกรรมตามบทเฉพาะกาลที่พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 86
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบบทบัญญัติของการตราบทเฉพาะกาลเพื่อนิรโทษกรรม ให้แก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ดังกล่าว กับบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แล้ว ก็จะพบหลักการสำคัญในการนิรโทษกรรม คือ การกำหนดเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมายในช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านจากกฎหมายเดิมไปสู่กฎหมายใหม่ เพื่อคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้นั้นตากการมีกฎหมาย และเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นสามารถปรับตัวในการดำเนินการเข้าสู่กฎหมายใหม่อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ช่วงเวลา 90 วัน คือระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 -วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ย่อมหมายความว่า ผลบังคับใช้กฎหมายคือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ยังไม่มีผลสมบูรณ์ในการบังคับใช้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายตามกฎหมายใหม่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และไม่สามารถนำบทบัญญัติที่เป็นโทษเกี่ยวการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอันเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชา ที่เคยบัญญัติในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับก็ไม่สามารถทำได้ เพราะได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562
ด้วยประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลในมูลนิธิข้าวขวัญ ว่ามีการผลิต ครอบครอง จำหน่ายจ่ายแจก กัญชา ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย และเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 22 ดังกล่าวข้างต้น เพราะการมีบทเฉพาะกาลดังกล่าวเป็นไปด้วยเงื่อนไขที่หลายฝ่ายก็เข้าใจอยู่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 -วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เป็นช่วงเวลาของการนิรโทษกรรมไม่เอาผิดกับผู้ซึ่งมีไว้ในการครอบครองกัญชาในทุกกรณี ไม่ว่าจะมีไว้ในครอบครองเพื่อผลิต การค้า การจำหน่าย จ่ายแจก หรือกิจกรรมใด ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว การศึกษาวิจัย หรือเพื่อการใดๆ ซึ่งรวมถึงการมีไว้เพื่อสันทนาการ ก็ตาม ก็ได้รับประโยชน์จากบทนิรโทษกรรมดังกล่าวด้วย
ในช่วงระหว่างที่กำหนด เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินคดีกับผู้หนึ่งผู้ใดไม่ได้ จนกว่าจะพ้นเวลาที่กำหนด 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ซึ่งก็คือ พ้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 และเริ่มบังคับใช้กฎหมายได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
“ดังนั้น เมื่อหลักการของกฎหมายเป็นไปดังกล่าว การกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าดำเนินการกับมูลนิธิขวัญข้าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายในสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ คือหลักกฎหมายว่าด้วยความมาก่อนของกฎหมาย และการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามกฎหมาย
“เราไม่รู้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเกิดจากวัตถุประสงค์ใด แต่หากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งให้บุคคลใดต้องรับผิดทางอาญา หรือเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ในการมีสิทธิเหนือ “กัญชา” เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งคงต้องเตรียมตัวสำหรับการรับผลจากการกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เอาไว้ด้วย”นายคมสันระบุ