(26 เม.ย.62) บีบีซีไทย รายงานว่า ในการประชุมวาระพิเศษช่วงเช้าวันนี้ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า วิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ได้เพิ่มข้อความต่าง ๆ ทำให้การคำนวณผลลัพธ์เพื่อหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 มีปัญหา
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า มาตรา 128 ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ “มากกว่า” และ “ต่างไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้” ทั้งนี้อนุมาตราที่เพิ่มมา ได้แก่ (4) (6) (7) ในขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คำนวณหาจำนวน “ส.ส. พึงมี” แต่มาตรา 128 ไปเพิ่มเป็น “ส.ส. พึงมีเบื้องต้น” เป็นเหตุให้การคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ได้ผลลัพธ์ไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 “จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป”
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจฯ จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ หรืออย่างช้าวันจันทร์ (27 เม.ย.) ส่วน กกต. ต้องรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ และต้องใช้สูตรใดคำนวณ ระหว่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้น เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจฯ ไม่ขอให้ความเห็น เพราะ “ผู้ตรวจฯ พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเป็นหลัก ส่วนวิธีทำคำนวณถือเป็นหน้าที่ของ กกต.”
นอกจากนี้เขายังปฏิเสธจะตอบคำถามที่ว่าการที่ผู้ตรวจฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 9 พ.ค. หรือไม่ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต. และผลการตัดสินหรือมติของผู้ตรวจฯ ไม่ได้มีผลผูกพันทุกองค์กร
ด้าน พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวแสดงความมั่นใจว่าผู้ตรวจฯ มีอำนาจส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จากนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ตรวจฯ ยัง “ไม่รับพิจารณา” คำร้องของนายเรืองไกรที่ขอให้วินิจฉัยและส่งศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 เป็นโมฆะหรือไม่ โดยนายรักษ์เกชาอธิบายว่าไม่ใช่หน้าที่ของผู้ตรวจฯ ในการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ได้พิจารณาประเด็นต่าง ๆ 4-5 ประเด็นตามคำร้องของนายเรืองไกร ในจำนวนนี้คือการไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์มานับคะแนน ซึ่งผู้ตรวจฯ มีข้อสรุปว่า “ไม่เป็นปัญหา ก็ยุติเรื่อง ไม่ส่งต่อไปที่ไหน ก็จะแจ้ง กกต. และตอบผู้ร้องต่อไป”
ขอบคุณข้อมูลจาก บีบีซีไทย
ขอบคุณภาพจาก วีรนันต์ กัณหา | Weeranan Kanhar @weeranan