(23 พ.ค.62) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “พรรคการเมืองในต่างประเทศกู้เงินได้หรือไม่?” ระบุว่า ข่าว 22 พ.ค.62-นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ต้องกู้เงินจากจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ร้อยกว่าล้านบาทว่า
“ … กฎหมายให้กรรมการบริหารพรรคบริจาคได้คนละไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่มีใครมีเงินขนาดนั้น
ดังนั้นเราจึงศึกษากฎหมายทั้งหมด ทั้งยังพบว่าพรรคการเมืองในต่างประเทศเป็นหนี้ธนาคารเต็มไปหมด ดังนั้นพรรคการเมืองกับการกู้เงินจึงเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมรายได้ของพรรคอยู่ แต่เงินกู้ไม่มีระบุไว้ พรรคการเมืองถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน เมื่อไม่เขียนจึงสามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม”
ผมแสดงกฎของ กกต. สหรัฐ ที่ระบุว่า
“กรณีบุคคลธรรมดาให้กู้แก่พรรคนั้น ถือเป็นเงินบริจาคอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นเฉพาะถ้าพรรคกู้จากสถาบันการเงินโดยตรงเท่านั้น”
และแม้แต่ผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการให้พรรคการเมือง ก็ต้องไม่ให้เครดิตยาวนานกว่าที่ให้แก่รายอื่นๆ และกฎสหรัฐยังระบุด้วยว่า
“กรณีบุคคลธรรมดาใช้เงินของตนเอง หรือใช้เครดิตของตนเองเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายให้แก่พรรค ให้ถือเป็นการบริจาคอย่างหนึ่ง”
ดังนั้น กรณีที่พรรคการเมืองกู้เงินจากสถาบันการเงิน น่าจะไม่มีปัญหา แต่กรณีกู้จากหัวหน้าพรรคเกิน 10 ล้านบาท ตัวอย่างตามหลักเกณฑ์ในสหรัฐ ถือว่าทำไม่ได้
ส่วนกรณีที่พิจารณาว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งตราบใดที่ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามกู้เงิน ก็ย่อมทำได้นั้น
ผมเห็นว่าจะมีข้อถกเถียงกันได้
เนื่องจากพรรคการเมืองจัดตั้งตามกฎหมายมหาชน มิใช่ไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ตามกฎหมายบริษัทมหาชน
อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางรายที่แสดงความเห็นชัดเจนว่า พรรคการเมืองกู้จากหัวหน้าพรรคได้ จึงต้องให้ กกต.และศาลเป็นผู้พิจารณา
แต่ขอย้ำว่า กกต.ควรจะเร่งมือการตรวจสอบเรื่องโต๊ะจีน พปชร. ด้วย และมีการแถลงความคืบหน้าเป็นระยะๆ
และถึงเวลาที่ กกต.จะต้องปรับกติกาของไทยให้เป็นสากลในทุกด้าน
โดยก่อนหน้านี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึงกรณีกระแสข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีการพิจารณารับคำร้องของ กกต.ในคดีหุ้นวี-ลัคมีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในวันพรุ่งนี้หรือไม่ และกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินของนายธนาธรมา 110 ล้านบาท
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในกรณีของหุ้นวี-ลัคมีเดีย นั้น มีเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยเปรียบเทียบกัน กล่าวคือในกรณีของนายธนาธรมีการยื่นเรื่องต่อ กกต.ในวันที่ 25 มีนาคม จากนั้นจึงมีการรับคำร้องในวันที่ 4 เมษายน ตามมาด้วยการส่งหนังสือให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธรมาชี้แจงต่อ กกต.ในวันที่ 22 เมษายน เวลา 10.00 น. แต่หนังสือมาถึงบ้านในเวลา 13.00 น. ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่นางสมพรจะไปชี้แจง และในวันรุ่งขึ้น 23 เมษายน กกต.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายธนาธรทันที หลังจากนั้นได้ให้นายธนาธรเข้าชี้แจงกับอนุกรรมการไต่สวนในวันที่ 30 เมษายน ก่อนที่จะมีการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พฤษภาคม รวมเวลาทั้งสิ้น 53 วัน
“เมื่อเทียบเคียงกับกรณีที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน คือกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่าภรรยาอาจถือหุ้นสื่ออยู่ มีการยื่นเรื่องต่อ กกต.ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 โดย กกต.มีมติยื่นคำร้องในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ทำการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ศาลรับคำร้องในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 รวมใช้เวลาทั้งสิ้น 417 วัน ซึ่งความแตกต่างระหว่างทั้งสองคดี ที่น่าสังเกตว่าอาจเข้าข่ายเป็นการใช้ดุลยพินิจของ กกต.อย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ กกต.ยังไม่เคยเปิดโอกาสให้นายธนาธรเข้าชี้แจงเลยแม้แต่ครั้งเดียว เว้นแต่ในวันที่ 30 เมษายนที่มีการเชิญไปชี้แจง ซึ่งเมื่อไปถึง ก็พบว่าในสำนวนแจ้งข้อกล่าวหามีเพียงข้อความ 6 บรรทัด ที่อ้างอิงถึงเอกสาร บอจ.5 แล้วฟันธงลงไปทันทีว่านายธนาธรผิด โดยไม่มีการนำข้อมูลของผู้ถูกร้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเอกสารคำให้การที่นายธนาธรส่งไปหลายลัง ก็มีการใช้เวลาพิจารณาเพียง 16 วันเท่านั้น” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวย้ำว่า การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ทำได้จนถึง 1 วันก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เมื่อ กกต.ตัดสินใจจะทำทั้งๆที่ตัวเองไม่มีอำนาจ จึงเกิดเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ขึ้นมา ส่วนขั้นตอนในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามกฎหมายกระบวนพิจารณาความของศาลรัฐธรรมณูญแล้ว จะต้องมีการตั้งองค์คณะชุดเล็กขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ หากมีมติไม่รับคำร้อง ก็ต้องส่งให้คณะใหญ่เป็นผู้พิจารณา แต่หากมีมติรับคำร้อง ก็ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ซึ่งตามกำหนดเวลาสามารถทำได้จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน ส่วนกรณีกระแสข่าวที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดการปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น เมื่อเอากรณีของนายดอนมาเทียบกัน ศาลได้ให้เวลานายดอนชี้แจงถึงหนึ่งเดือนก่อนที่จะพิจารณา และผลการพิจารณาก็ออกมาว่านายดอนไม่ต้องยุติปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากไม่มีเหตุว่าจะเกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นบรรทัดฐานว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ในทันทีที่มีการรับคำร้องได้ แต่ต้องให้เวลาในการชี้แจงก่อน นอกจากนี้นายธนาธรแม้ว่าจะเป็น ส.ส.แล้ว แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากยังไม่ได้ทำการปฏิญาณตนตามที่กำหนดในกฎหมาย การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้
“ถ้าใช้หลักการมาตรฐานเดียวกัน เท่าเทียมกัน ไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวได้ และพรรคอนาคตใหม่ก็มีความมั่นใจว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องขึ้นมา นายธนาธรก็จะไม่ถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และพร้อมที่จะสู้ในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และหากบ้านนี้เมืองนี้จะมีปาฏิหารย์ทางกฎหมายสั่งให้นายธนาธรหยุดการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นจริง เราขอยืนยันว่านายธนาธรยังคงเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเราขอสงวนสิทธิที่จะทำให้ปาฏิหารย์ทางกฎหมายถูกใช้ไปในมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการยื่นให้มีการตรวจสอบ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐทุกคนที่มีกรณีแบบเดียวกัน” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า ส่วนกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินของนายธนาธรนั้น ต้องย้อนกลับไปในวันที่ตั้งพรรคขึ้นมา พรรคไม่สามารถรับบริจาคได้เนื่องจากยังติดคำสั่ง คสช. รวมทั้งช่องทางทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้กรรมการบริหารพรรคบริจาคได้คนละ 10 ล้านบาท ทางกรรมการบริหารพรรคแต่ละคนก็ไม่ได้มีฐานะขนาดนั้น จะให้นายธนาธรนำเงินมาให้คณะกรรมการบริหารพรรคบริจาคก็เป็นการไม่โปร่งใส จึงต้องกู้เงิน ขอยืนยันว่าในทางสากลนั้น การกู้เงินของพรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น หลายพรรคการเมืองทั่วโลกเป็นหนี้ธนาคาร บางพรรคก็เป็นหนี้รายย่อย อีกทั้งกฎหมายในประเทศไทยก็ไม่มีระบุว่าการกู้ยืมเงินเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งตามหลักการทางกฎหมายแล้ว อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้าม และหลักการทางบัญชี เงินกู้มีสถานะเป็นหนี้สิน ไม่ใช่รายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายปิยบุตรได้เปิดข้อมูลงบการเงินที่ลงนามรับรองโดยประธาน กกต ที่เก็บเอาไว้ในห้องสมุด กกต.เอง พบว่ามีพรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา, พรรคประชาธิปไตยใหม่, และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีประวัติการกู้เงินในบัญชีการเงิน หลายกรณีก็ไม่ได้ระบุว่ากู้เงินจากใคร
“พรรคการเมืองที่พยายามจะทำให้ทุกอย่างโปร่งใส มีที่มาว่าเอาเงินมาจากไหนในการใช้จ่ายของพรรคถูกไล่บี้ไล่ตรวจสอบจะเป็นจะตาย แต่พรรคการเมืองอื่นๆกลับไม่เคยถูกตรวจสอบเลยว่าเอาเงินมาจากไหน ตกลงประเทศนี้อยากให้ทุกอย่างไม่โปร่งใส สนับสนุนจะให้ใช้เงินจากช่องทางลับ มีกระเป๋าเงินซุกเอาไว้ที่นั่นที่นี่อย่างนั้นหรือ ถ้านายธนาธรอยากครอบงำพรรค นายธนาธรจะทำสัญญาเงินกู้ให้ถูกไล่บี้ตรวจสอบทำไม สู้เอาเงินมาให้กรรมการบริหารคนละ 10 ล้านแล้วบริจาคเข้าพรรคเลยไม่ง่ายกว่าหรือ แต่นี่เราต้องการสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ ให้ทุกอย่างโปร่งใส นายธนาธรจึงทำสัญญาขึ้นมา มีกำหนดชัดเจนที่จะให้ใช้เงินภายใน 3 ปี” นายปิยบุตร กล่าว