นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thanakrit Vorathanatchakul ถึงรายละเอียดและการคาดการณ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรีว่า
ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มาตรา 272 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ต่อ กกต. ก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 88 โดยมีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองนั้นจะต้องมีสมาชิกที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
โดยในขณะนี้จำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร คือ 499 คน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากการที่ กกต. ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าสมาชิกสภาพ ส.ส.ของนายธนาธร ได้สิ้นสุดลง ตามมาตรา 82 วรรคสี่ และเนื่องจากมาตรา 82 วรรคสาม กำหนดไม่ให้นับ ส.ส. ซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม จึงมีจำนวน 25 คน
ดังนั้น เฉพาะบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้นที่สามารถเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ ซึ่งได้แก่พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองในแต่ละขั้วคงจะร่วมกันพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพียงรายชื่อเดียวในขั้วของตน เพื่อไม่ให้การลงคะแนนเสียงกระจัดกระจายในภาวะที่จำนวนเสียงของ ส.ส. ในแต่ละขั้วไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก
โดยการเลือกนายกรัฐมนตรีจะเริ่มต้นจากการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีจำนวน ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 159 วรรคสอง ซึ่งถ้าปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม ก็คือจำนวน 50 คน สำหรับ ส.ว. มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการร่วมลงมติกับ ส.ส. ในการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีสิทธิในการเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีได้
การลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งก็คือ จำนวน 376 เสียงขึ้นไปจากทั้งหมด 749 เสียง ตามมาตรา 159 วรรคสามและมาตรา 272 วรรคหนึ่ง
หากพิจารณาจากจำนวน ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ รวมกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก และขนาดกลาง ประกอบกับจำนวน ส.ว. ซึ่ง คสช. เป็นผู้คัดเลือก ถึงแม้จะไม่รวมจำนวน ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จำนวน ส.ส.และ ส.ว.ที่จะลงคะแนนสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่น่าจะประสบปัญหาในการรวมคะแนนเสียงให้ได้ 376 เสียง ขึ้นไป และยังอาจจะมีคะแนนเพิ่มเติมจาก ส.ส. ที่ลงคะแนนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสวนทางกับมติพรรคก็ได้
ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเลือกที่จะไม่มีมติพรรคที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรือเลือกที่จะงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์อาจตัดสินใจเลือกที่จะงดออกเสียงตามที่เคยให้คำมั่นไว้ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่กระทบกับการเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังไม่กระทบกับการร่วมรัฐบาลของทั้ง 2 พรรคด้วย เพราะพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคน่าจะมีข้ออ้างในการชี้แจงได้ว่า การร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งและเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากจากการเลือกนายกรัฐมนตรี และการมีพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคเข้าร่วมรัฐบาลด้วยย่อมทำให้รัฐบาลมีความมั่นคงมากขึ้น
นอกจากนี้ หากจำนวน ส.ส. ที่ลงคะแนนเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีไม่ถึงจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือไม่ถึง 250 คน ก็ยังไม่ใช่สิ่งยืนยันว่า รัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในภายหลัง และยังมีปัจจัยอื่น ๆ และกระบวนการต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมในการตั้งคณะรัฐมนตรี พรรคการเมืองที่ไม่ลงคะแนนเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอาจจะมาเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐในภายหลัง ทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากก็ได้ อีกทั้ง การที่พลเอกประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นเงื่อนไขที่เป็นผลดีและเป็นประโยชน์กับพลเอกประยุทธ์ด้วยในเรื่องอำนาจต่อรอง การควบคุมและกำหนดการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีด้วย
ดังนั้น การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน นี้ ไม่น่าจะมีเหตุขัดข้องในการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีมติเห็นชอบให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และหากจะมีเหตุขัดข้องจริง รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ว่าจะต้องให้เสร็จสิ้นภายในกี่วัน ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 202 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
นอกจากนี้ ในขณะที่ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ และบทเฉพาะกาล มาตรา 265 วรรคหนึ่งก็กำหนดให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถ้าดูจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว พลเอกประยุทธ์ และ คสช. อยู่ในสถานะที่กุมความได้เปรียบมากกว่า
ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก จากบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งต่อ กกต. นั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต. ตามมาตรา 88 ตามที่ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง โดยบทเฉพาะกาลเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกนี้จะใช้เฉพาะในช่วง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ และเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
เนื่องจากต้องใช้คะแนนเสียงของ ส.ส.และ ส.ว. รวมกันเป็นจำนวนมาก และต้องผ่านด่านหินหลายขั้นตอน เช่น ส.ส.และ ส.ว. รวมจำนวนไม่น้อยกว่ากี่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จากนั้นถึงจะนำมาสู่การลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา ให้ยกเว้นได้ และจึงจะย้อนกลับมาสู่ขั้นตอนในการให้ความเห็นชอบบุคคลให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 และบทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น
พลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ คงน่าจะพยายามเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ในขั้วเดียวกันให้ได้รับประโยชน์และความพึงพอใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยพลเอกประยุทธ์ และ คสช. มีอำนาจต่อรองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง และมาตรา 265 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว อีกทั้งมีมาตรา 44 ในมือเสริมเพิ่มเข้ามา แต่คาดว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ และไม่ถึงขนาดกับไม่มีทางออก หรือทางเลือกอื่นแล้ว พลเอกประยุทธ์และ คสช. คงไม่เลือกใช้แนวทางที่จะปกครองประเทศโดย คสช. ต่อไป เพราะการปกครองประเทศต่อไปโดย คสช. หรือการล้มกระดานการเลือกตั้ง อาจนำมาซึ่งความไม่พอใจและการต่อต้านคัดค้านทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ และสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง และหากจะให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ไม่มีความแน่นอนว่าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญจะได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาด้วยคะแนนที่มากเหมือนในครั้งนี้หรือไม่
การเลือกใช้แนวทางเจรจาต่อรองการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับอาศัยอำนาจตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญดังกล่าวและอำนาจ ของ คสช.ที่มีอยู่ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่นำมาใช้ในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้