หน้าแรก news นักวิชาการ มธ.ชี้ กรณีเลือกนายกฯ เป็นชัยชนะที่เปราะบาง

นักวิชาการ มธ.ชี้ กรณีเลือกนายกฯ เป็นชัยชนะที่เปราะบาง

0
นักวิชาการ มธ.ชี้ กรณีเลือกนายกฯ เป็นชัยชนะที่เปราะบาง
Sharing

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anusorn Unno โดยวิเคราะห์สถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับชัยชนะว่า “จุดจบของชนชั้นนำจารีต

หากมองจากฟากประชาธิปไตย ผลการเลือกนายกฯ เมื่อคืนเป็นเรื่องน่าผิดหวัง แต่หากมองจากฟากการพยายามรื้อฟื้นสถานะของชนชั้นนำจารีตตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาที่ปัจจุบันมี คสช. เป็นแกนหลัก ชัยชนะครั้งนี้มีความเปราะบาง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงใหม่เพิ่มเข้ามาที่หากรับมือไม่ได้ก็จะพาพวกเขาไปสู่จุดจบในที่สุด

อย่างแรก หากตัดสูตรและวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่พิลึกพิลั่นออกไป ประชาชนส่วนใหญ่เลือกผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือในจำนวนมากกว่าประชาชนที่เลือกพรรคที่ประกาศว่าจะสืบทอดอำนาจ คสช. เกือบเท่าตัว และหากไม่ตัดกำลังคู่แข่งด้วยการยุบพรรคไทยรักษาชาติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหากไม่ได้ ส.ว. มาช่วยกดดันในการต่อรองและโหวตยกแผงอย่างที่ออกแบบไว้ โอกาสที่จะอาศัยนายกฯ คนนี้สืบทอดอำนาจแทบจะไม่มี พูดอีกอย่างหนึ่ง ชนชั้นนำจารีตยังไม่สามารถหว่านล้อมให้ประชาชนส่วนใหญ่คล้อยตามได้ พวกเขายังไม่สามารถหาร่างทรงของตนที่สามารถมัดใจประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง

ขณะที่อีกด้านชนชั้นนำจารีตเผชิญการท้าทายจากผู้นำที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากผู้นำที่เป็นคู่แข่งเดิมแล้ว มีผู้นำใหม่เกิดขึ้นภายใต้การเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้นำประเภทที่มีข้อเสนอบางข้อสั่นคลอนสถานะของชนชั้นนำจารีตโดยตรงและปฏิเสธที่จะเล่มเกมต่อรองกับชนชั้นนำจารีตในทางลับ นอกจากนี้ แม้ชนชั้นนำจารีตพยายามขจัดผู้นำใหม่นี้แต่เนิ่นแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะเขาได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างค่อนข้างเป็นเอกภาพ จะฆ่าผู้นำที่เป็นคู่แข่งเดิมให้ตายสนิทและจะสกัดผู้นำใหม่ไม่ให้ขึ้นมาได้อย่างไรเป็นโจทย์ที่ชนชั้นนำจารีตยังตอบได้ไม่เสร็จในตอนนี้

ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่ไม่พอใจระบอบที่ชนชั้นนำจารีตอยากให้เป็นเพิ่มมากขึ้น นอกจากคนรุ่นก่อนหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา มีคนรุ่นใหม่ที่ขุ่นเคืองกับระบอบที่ว่านี้เป็นจำนวนมาก นอกจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พวกเขาแสดงความขุ่นเคืองในสื่อทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ความขุ่นเคืองของประชาชนทั้งสองกลุ่มจะยังไม่สามารถสร้างแรงสะเทือนหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เพราะความที่ระบบการเลือกตั้งมีลักษณะพิกลพิการและด้วยธรรมชาติที่วูบไหวของสื่อทางสังคมเอง แต่การที่ประชาชนเหล่านี้มีส่วนร่วมทางการเมืองทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดในการถ่ายทอดสดหรือการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จัดทำโดยสื่อสำนักต่างๆ และหากความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มักเริ่มจาก concerned citizens หรือ critical mass ประชาชนกลุ่มนี้ก็จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ชนชั้นนำจารีตยังหาทางจัดการไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างจากพวกเขาอย่างมาก

ฉะนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาการมีส่วนทางการเมืองของประชาชนเหล่านี้ไว้และแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังทางสังคมและการเมืองที่มีนัยสำคัญ รวมถึงพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะพัฒนาความสัมพันธ์กับประชาชนแต่ละกลุ่มนี้อย่างไร และจะร่วมกันสกัดกั้นกระบวนการสร้างร่างทรงรุ่นใหม่ของชนชั้นนำจารีตอย่างไรโดยเฉพาะที่ผ่านระบบการศึกษา สื่อ และวัฒนธรรม

หากทำได้ ชนชั้นนำจารีตอาจยื้อเวลาของพวกเขาได้สักระยะแต่จะพ่ายแพ้ต่อพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงในที่สุด”

 

 

 


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่