โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยแพร่บทความใน “ประชาไท” ระบุว่า หลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้เหล่าผู้ต้องการใช้กัญชาและผู้ที่ต้องการผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์มีความหวัง
แต่ทว่า ในความเป็นจริง แม้จะมี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ที่อนุญาตให้ปลูกและใช้กัญชาในการรักษาคนป่วยได้ แต่การใช้กัญชาก็เป็นไปอย่าง ‘กระจุกตัว’ และมีข้อจำกัดแก่บรรดาแพทย์ทางเลือกว่า พวกเขาต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ทำให้การแปรรูปสารสกัดกัญชาเพื่อนำมารักษาโรคเป็นไปอย่างจำกัด และไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่สามารถใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคได้
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำให้เราทราบว่า กลุ่มอาการป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วได้ผล มีอย่างน้อยสี่กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กลุ่มโรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษา กลุ่มผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมและมีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง และกลุ่มสุดท้ายผู้ป่วยที่มีภาวะปวดประสาท
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่สามารถใช้กัญชาในการควบคุมอาการได้อีกอย่างน้อยหกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย กลุ่มโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคปลอกประสาทอักเสบ
“ถ้านับเฉพาะจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรค ‘ลมชัก’ ในไทย ซึ่งจัดทำโดยสถาบันประสาทวิทยา พบว่ามีจำนวนอย่างน้อยหกแสนคน และมีการคาดการณ์กันว่าจะมีผู้ป่วยที่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้มากถึงสองล้านคนในประเทศไทย”
หลัง พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ประกาศใช้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคงมาแจ้งการครอบครองกัญชาในช่วงก่อนกฎหมายประกาศใช้โดยไม่ต้องรับผิด ในวันที่ 13 ถึง 21 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยผลปรากฎว่ามีผู้ลงทะเบียนครอบครองกัญชาผ่านระบบออนไลน์อย่างถูกต้องแค่ 31,177 คน
“ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างน้อยสองข้อ คือ หนึ่ง จำนวนผู้ที่แจ้งการครอบครอบกัญชามีน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ หมายความว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงกัญชา
และ สอง มีคนที่ตกหล่นจากระบบแจ้งครอบครองกัญชาเพราะมีปัญหาเรื่องเอกสาร จากข้อมูลเท่าที่ปรากฎตามสื่อ พบว่า ปัญหาการแจ้งครอบครองกัญชาได้แก่ กรอบระยะเวลาขอจดแจ้งมีจำกัด และการตีความระเบียบและกฎหมายของเจ้าหน้าที่คลาดเคลื่อนว่า ผู้ที่จะใช้กัญชารักษาโรคต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ของแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น ทั้งที่ในระเบียบเปิดกว้างสำหรับแพทย์ทางเลือกด้วย”
หลัง พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ มีผลบังคับใช้มีหลายหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับสิทธิในการผลิต ครอบครอง จำหน่าย กัญชาได้ เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตปลูก
“แต่อย่างไรก็ดี การขออนุญาตปลูกกัญชายังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการผู้ใช้กัญชา เนื่องจาก ผลผลิตขององค์การเภสัชกรรมที่ได้มีอนุญาตให้การปลูกกัญชาไปก่อนหน้านี้ จะสามารถสกัดน้ำมันจากกัญชาที่ปลูกได้ ประมาณ 2,500 ขวดๆ ละ 5 ซีซี เท่านั้น”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุที่ทำให้การผลิตสารสกัดกัญชาเป็นไปอย่างจำกัดส่วนหนึ่งเป็นกฎหมาย เนื่องจาก มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ กำหนดให้ในช่วงห้าปีแรกหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ การผลิต ครอบครอง จำหน่าย กัญชาโดยกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ เภสัช แพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อร่วมดำเนินการกับหน่วยงานของรัฐ
หมายความว่า กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ เภสัช แพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรจะยังไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรคได้เอง ดังนั้น การผลิตสารสกัดกัญชาในช่วงห้าปีแรกจึง ‘กระจุกตัว’ อยู่ที่หน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาต หรือกลุ่มที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ที่ต้องการผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคต้องมีภารกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม ‘หมอพื้นบ้าน’ เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการแจกจ่ายสารสกัดจากกัญชาต้องผ่านบันได้ห้าขั้น ได้แก่
หนึ่ง ต้องได้รับการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
สอง ต้องผ่านการอบรบการใช้กัญชารักษาโรคและสอบผ่านเกณฑ์
สาม ตำรับยาที่ใช้ต้องได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีและคณะกรรมการตามกฎหมายเสียก่อน
สี่ กัญชาที่เป็นวัตถุดิบไม่สามารถปลูกเองได้ต้องปลูกโดยความยินยอมและร่วมมือของหน่วยงานรัฐที่ได้รับอนุญาต
ห้า การแจกจ่ายยาทำได้เฉพาะที่พักอาศัย ถ้าแจกในเขตอื่นและต้องเป็นหมอพื้นบ้านเช่นเดียวกัน
จากข้อจำกัดของกฎหมายยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ทำให้กลุ่มภาคประชาสังคมจากหลากหลายเครือข่าย รวมตัวกันจัดงานเสวนา “เดินเพื่อผู้ป่วย กัญชารักษาโรค” โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการจัดการปัญหาเรื่องกัญชา ดังนี้
ในระยะสั้น ให้นำกัญชาอัดแท่งของกลาง จากหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมาตรวจสอบการปนเปื้อน และหาวิธีการสกัดกัญชาเพื่อให้มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้น้ำมันกัญชาแบบไม่แยกส่วนสารสำคัญออกมาเป็นยาแผนโบราณเช่นเดียวกับยาสมุนไพรเดี่ยว ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร เพื่อให้สามารถใช้กับคนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการทดลองเป็นเวลานานเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน
ในระยะกลาง ป้องกันการปนเปื้อนสารพิษในกัญชาด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกใช้สารเคมี อย่าง ไกลโฟเสท พาราควอต และสารพิษอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีสารพิษปนเปื้อน
อีกทั้ง ต้องเปิดทางให้กับผู้ป่วยสามารถเพาะปลูกกัญชาได้ตามจำนวนที่กำหนด เมื่อมีใบรับรองแพทย์ หรือให้สถานพยาบาล มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชนสามารถได้รับใบอนุญาตในการเพาะปลูกได้ สกัดได้ และจำหน่ายได้ หรือหากไม่มีพื้นที่เพาะปลูกก็สามารถร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในการเพาะปลูกเพื่อสถานพยาบาลและสถาบันอุดมศึกษาได้
ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ มุ่งแก้ไขกฎหมายปลดล็อกทั้งกระท่อมและกัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กัญชง” หรือ พืชในกลุ่มกัญชาที่มีสารสำคัญในการรักษาโรคให้พ้นจากบัญชียาเสพติดโดยทันที
นอกจากนี้ ต้องแก้ไขกฎหมายให้นำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ แล้วนำมาเป็นพืชควบคุม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพาะปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง