เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
อภิปรายรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่ให้ ครม.แจ้งความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ทุก 3 เดือน โดยระบุว่า ในแผนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ หากย้อนไปดูจะพบว่ามี 423 หน้า เขียนครอบคลุมหลายมิติ มีโครงการร่วม 50 โครงการ และเมื่อพิจารณาควบคู่กับรายงานความคืบหน้าที่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ตนมีข้อห่วงใยที่อยากฝากไปยังคณะรัฐมนตรีและคณะทำงาน 3 ข้อ นั่นคือ 1. ความล่าช้า 2. ความล่าช้า และ 3.ความล่าช้า
นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า ในรายงานความคืบหน้านี้ เมื่อหยิบยกโครงการที่เรียกว่าสำคัญเร่งด่วนหรือควิกวินมาพิจารณา พบว่า 1.โครงการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ที่ระบุว่าต้องให้แล้วเสร็ในไตรมาสแรกปี 61 ก็มีความล่าช้า แต่ตอนนี้ตั้งเสร็จแล้ว โดยสำนักงานนี้ต้องมีการพยายามขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ พร้อมกับหน่วยงานอื่นๆของรัฐ โดยมีดัชนีความสุขและรายได้ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งตามรายงานเพิ่มขึ้น 0.01 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าเพิ่มหรือไม่ การตั้งดัชนีแบบนี้ไม่มีความหมาย เราต้องตั้งเป้าหมายว่าควรอยู่ที่เท่าไหร่ นอกจากนี้ดัชนีตัวจำนวนชุมชนที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ทราบว่าวัดอย่างไรและเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ทั้งนี้ งบประมาณโครงการนี้ 2 พันล้านบาท แต่ล่าสุด ในรายงานความคืบหน้าครั้งนี้ไม่ระบุงบประมาณแล้ว
2.โครงการปรับสถานภาพวิสาหกิจชุมชนให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งแผนตั้งต้นชื่อว่าโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชน วงเงิน 2.5 พันล้านบาท เขียนเป้าหมาย 5 เป้าหมาย คือ 1.เครือข่ายธุรกิจชุมชนสินค้าทั่วประเทศ 2.อีคอมเมิส เซ็นเตอร์ทุกภาค 3. อี คอมเมิส แพลทฟอร์ม 4. เซ็นเตอร์ เอกเซอร์เลนซ์ และ 5 มีสถาบันการเงินในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏซึ่งความคืบหน้าในรายงานเลย ทั้งกรอบกำหนดไว้ 12 เดือน
3.โครงการปฏิรูปกฎหมายที่ล้าหลังและไม่จำเป็น การแก้ไขกฎหมายนั้นเป็นการเพิ่มขีดความสามารถดำเนินธุรกิจและการแข่งขันได้ เช่น ในเกาหลีใต้ ปี 2540 แก้ไขกฎหมาย 11,000 ฉบับ ใช้ระยะเวลา 1 ปี ทำเรื่องนี้ทำให้พัฒนาประเทศ แต่แผนปฏิรูปของเราตั้งไว้ 5 ปี ซึ่งผ่านไปแล้ว 1 ปี ยังไปไม่ถึงไหน ล่าสุดเพิ่งมีการจ้างทีดีอาร์ไอมาเป็นผู้ดำเนินการ
4.การส่งเสริมใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับเกษตรกร หรือ สมาร์ฟาร์มมิ่ง มีการพัฒนาแอพลิเคชันที่เรียกว่า อะกรี แมพ ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดไปเล่นแล้วก็พบว่ายังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ที่น่าเคลื่อบแคลงคืองบประมาณที่ใช้นั้น ไม่มีระบุว่าเป็นเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนมาก เราทราบดีว่าปีที่ผ่านมา คสช. 1 ใช้เงินกว่า 140,000 ล้านบาท สนับสนุนราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งโครงการลักษณะนี้จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนสมรรถภาพเกษตรกร ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงต่างๆได้ จึงอยากพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด รอบคอบ และจริงใจต่อประชาชน
“ทั้งหมดนี้คือความล่าช้า คือการกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือการกำหนดวงเงินงบประมาณไม่ชัดเจน มีความเคลือบแคลง ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดของแผนปฏิรูปในด้านเศรษฐกิจ ผมมองเห็นสิ่งหนึ่งที่ไม่มีอยู่ในแผนนี้ คือ ถ้าเราต้องการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตัวเอง หมดเวลาแล้วกับการดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุน หมดเวลาแล้วกับการใช้ค่าแรงที่ต่ำๆในการทำธุรกิจ ภายใต้แผนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจฉบับนี้มีโครงการที่จะให้เกิดระบบนิเวศน์การวิจัยและพัฒนาก็จริง แต่เมื่อไปดูแล้วยังไม่มีรายละเอียดความคืบหน้าใดๆ จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พรรคอนาคตใหม่พูดลายครั้งเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เช่น เราพูดถึงไฮเปอร์ลูป ซึ่งหากเราจะก้าวข้ามประเทศอื่น เราต้องไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประเทศอื่นพัฒนาวิจัยไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่เราจะแข่งขันได้ ดังนั้น เราต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นของเราเอง” นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาระดับชาติ อยากวิงวอนให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามา แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โปรดคิดถึงปัญหาของพี่น้องประชาชน เกษตรกร พ่อค้าแม่ขาย คนฐานรากสังคม ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ปรากฏในโซเชียลมีเดียหลายที่ว่าเลือกอนาคตใหม่ทำไมได้อนาคตเก่า ดังนั้น ถ้าคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นนี้ทำไม่ได้ รอบหน้าตนขอเข้าจะขอทำงานส่วนนี้เอง