หน้าแรก news เอาแล้วไง ! อ.ปานเทพ ชี้ ต่างชาติ รอจดสิทธิบัตรกัญชาไทย หลังผลวิจัย เผย ต้านมะเร็งได้จริง

เอาแล้วไง ! อ.ปานเทพ ชี้ ต่างชาติ รอจดสิทธิบัตรกัญชาไทย หลังผลวิจัย เผย ต้านมะเร็งได้จริง

0
เอาแล้วไง ! อ.ปานเทพ ชี้ ต่างชาติ รอจดสิทธิบัตรกัญชาไทย หลังผลวิจัย เผย ต้านมะเร็งได้จริง
Sharing

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย เผยแพร่บทความในเว็บไซต์ “ผู้จัดการ” ใจความว่า

จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ได้ถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาจำนวนมาก และในการใช้สารสกัดกัญชาซึ่งได้เคยยื่นคำขอแล้วถึงขั้นประกาศโฆษณาคำขอเกี่ยวกับ โรคมะเร็ง ที่สำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 2 ฉบับ

โดยสิทธิบัตรฉบับดังกล่าวได้ให้ความสนใจในสารกลุ่มแคนนาบินอยด์บางตัวเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งแต่ละชนิดและการใช้ร่วมกับการรักษาโดยยาของแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ CBD, CBG, CBDV, CBDA, THC, THCV, THCVA, CBDA, CBC

หากปล่อยให้สิทธิบัตรเหล่านี้ซึ่งมีส่วนในการรักษาโรคอันสำคัญได้ กัญชาซึ่งมีสารสำคัญเหล่านี้หากนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งสมอง ประชาชนชาวไทยหรือผู้ที่นำมาใช้ก็อาจจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับบริษัทดังกล่าวด้วย

และด้วยการเคลื่อนไหวและกดดันของภาคประชาสังคมกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สำหรับประชาชน กรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ไบโอไทย เอฟทีเอวอทช์ นายกสภาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิสุขภาพไทย ฯลฯ กระทรวงพาณิชย์จึงได้สั่งยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด รวมถึง 2 ฉบับข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยคำสั่งในข้อ 1 และ ข้อ 2 ในการยกเลิก ซึ่งในข้อ 1 ปรากฏข้อความว่า

“ข้อ ๑ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรตามคำสั่งนี้ การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้หากนำไปใช้ประโยชน์ใน “เชิงพาณิชย์” ให้ถือเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้อาศัยคำสั่งของ คสช.ฉบับดังกล่าวนี้ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมดที่ได้ยื่นคำขอมาก่อนหน้านี้ รวมที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำขอเอาไว้ด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่าสิทธิบัตรกัญชาเหล่านั้นตาม มาตรา 9 (5) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ด้วยเหตุผลว่า เป็นการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (โดยในขณะนั้นให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ)

ทว่า “ข้อ 4 ในคำสั่ง คสช.ฉบับนี้” ก็ผูกเงื่อนไขเอาไว้ว่า “จะยกเลิกข้อห้ามการจดสิทธิบัตร โดยอาศัยคำสั่ง คสช. ”เกี่ยวกับกัญชาในอนาคต หากมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ที่ให้กัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือการวิจัยได้ โดยปรากฏข้อความว่า

“ข้อ ๔ ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำกัญชา ไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ให้ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ ของคำสั่งนี้เป็นอักยกเลิก นับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ “

ฟังดูผิวเผินก็ดูเหมือนว่ามีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพราะคนไทยก็มาจดสิทธิบัตรได้ ต่างชาติก็มาจดสิทธิบัตรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้มีความเป็นธรรมไม่ เพราะถึงวันนี้ขั้นตอนและอุปสรรคในการศึกษา วิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้นมีขั้นตอนยุ่งยากมาก จึงยังไม่มีใครจะสามารถแสดงผลวิจัยอย่างเป็นทางการเพื่อจดสิทธิบัตรได้ ในขณะที่องค์กรต่างชาติได้ศึกษาวิจัยมาล่วงหน้ามาแล้วหลายปี อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก จึงย่อมมีความพร้อมมากกว่าคนไทยมาก จึงเท่ากับเป็นการแข่งขันที่มีจุดเริ่มต้นที่ไม่เป็นธรรมสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าจะให้นำกัญชามาเป็นยาสมัยใหม่เพื่อรักษามะเร็งนั้น ก็ต้องไปเริ่มต้นจากการทดลองในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง แล้วจึงจะมีสิทธิวิจัยในมนุษย์กลุ่มเล็กซึ่งสิ้นหนทางในการรักษามาเป็นกรณีศึกษา หลังจากนั้นก็ทดลองในมนุษย์ในระยะสั้น และดูผลในระยะยาว ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลานานหลายๆปีแล้ว ยังต้องใช้เงินวิจัยอย่างมหาศาลด้วย

ดังนั้นหากประเทศไทยจะบ้าจี้ให้พืชสมุนไพรเป็นยาสมัยใหม่เป็นหลักเท่านั้น หรือคนไทยจะใช้ได้กัญชาเฉพาะเท่าที่ระบุในตำรับยาไทย โดยไม่มีโอกาสพัฒนาตำรับโดยอาศัยข้อมูลใหม่แล้ว สรรพคุณกัญชาด้วยข้อมูลใหม่ที่ว่าอาจมีส่วนช่วยรักษาโรคมะเร็งย่อมมีความเสี่ยงถูกผูกขาดโดยสิทธิบัตรบริษัทยาข้ามชาติทั้งหลายในท้ายที่สุด

เปรียบเสมือนการแข่งขันวิ่งที่นักวิ่งต่างชาติซึ่งตัวใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าได้เริ่มต้นแข่งขันการวิ่งในจุดใกล้เส้นชัยกว่าคนไทย อีกทั้งยังมีการมัดมือมัดเท้าให้นักวิ่งต่างชาติที่ห่างไกลจากเส้นชัยอีกด้วย

ยังไม่นับว่าบริษัทยาต่างชาติเหล่านี้สามารถนำสิทธิบัตรฉบับเก่าขึ้นมาปัดฝุ่นดัดแปลงเล็กน้อย แล้วกลับมายื่นคำขอจดสิทธิบัตรใหม่ได้ทันทีอีกด้วย !!!

แม้ว่าในขณะนี้ “งานวิจัยในมนุษย์” ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่า กัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ แต่การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติได้มาจดสิทธิบัตร ก็เพราะมีเบาะแสจากงานวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง รวมถึงยังมีการศึกษาว่ากัญชาหากนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการมีศักยภาพที่สามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งได้

สำหรับสารสำคัญในกัญชาจากงานวิจัยที่พบว่าสารสำคัญในกัญชงหรือกัญชามีศักยภาพในการต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือมะเร็งต่างชนิดกัน ได้แก่ เดลต้าไนน์ เตตระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (∆9-THC), สารแคนนาบินอล (CBN), สารเดลต้าเอท เตตระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (∆8-THC), สารแคนนาบิไดออล (CBD),สารแคนนาบิไซคลอล (CBL)ฯลฯรวมถึงเบาะแสข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่าสาร เดลต้าไนน์ เตตระไฮโดรแคนนาบิวาริน (THCV) ซึ่งจะช่วยยับยั้งการผลิตไนไตรท์ที่ถูกสร้างโดยไลโปโพลีแซคคาไรด์(LPS)ซึ่งมีศักภาพที่จะควบคุมการอักเสบในหลายโรคได้ เป็นต้น

วารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับรายงานเกี่ยวกับมะเร็งชื่อ Gynecologic Oncology Reports ได้เผยแพร่ตีพิมพ์รายงานชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เป็นกรณีศึกษาของ สตรีผู้สูงวัยอาย 81 ปี เป็นโรคมะเร็งรังไข่ชนิด low grade serous ovarian carcinoma ซึ่งได้แพร่กระจายลุกลามแล้ว สตรีผู้สูงวัยคนนี้ได้ตัดสินใจลดการรักษาแผนปัจจุบันเพราะไม่สามารถทนได้ต่อภาวะความเป็นพิษและคุณภาพชีวิต จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแพทย์ทางเลือกและอนุญาตให้เก็บบันทึกข้อมูลได้

สตรีสูงวัยคนนี้รักษาแพทย์ทางเลือกโดยเริ่มจากได้ กินยาเม็ดชื่อ Laetrile tablets หรือที่เรียกว่าวิตามินบี 17 โดยในปริมาณ 500 มิลลกรัม 4 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการได้รับน้ำมัน CBD เพียงแค่ 1 หยดหยอดใต้ลิ้นในตอนเย็นเพียง 1 ครั้งต่อวัน ปรากฏว่าค่าบ่งชี้มะเร็งรังไข่ที่ชื่อ Ca-125 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ 46 หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว เหลือเพียง 22 ในเดือนมิถุนายน 2560 และค่า Ca-125 ก็ยังลดลงต่อไปอีกหลังจากนั้นอีกด้วย

และเมื่อตรวจซีทีสแกนก็พบว่าก้อนมะเร็งที่ปีกมดลูกด้านขวา ซึ่งเคยมีขนาด 5.8 เซนติเมตร x 5.0 เซนติเมตร ในเดือนพฤษภาคม 2560 พอเวลาผ่านไป 4 เดือนกลับพบว่าก้อนดังกล่าวเล็กลงเหลือ 1.6 เซนติเมตร x 1.6 เซนติเมตร และเมื่อถึงเดือนธันวาคม 2561 การรักษาก็ยังตอบสนองดีต่อเนื่อง อีกทั้งไม่มีอาการเจ็บป่วยจากวิธีการดังกล่าวด้วย แม้ว่ากรณีนี้จะมีการใช้น้ำมัน CBD และ Laetrile (วิตามินบี 17) แต่รายงานชิ้นนี้กลับระบุว่าการทดลองในมนุษย์ทางคลินิกก่อนหน้านี้พบว่า Laetrile (วิตามินบี 17)ไม่มีผลใดๆต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การตั้งประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่ากรณีศึกษาของสตรีผู้สูงวัยรายนี้มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องในครั้งนี้ เป็นเพราะการใช้น้ำมัน CBD ร่วมกันทำงานกับ Laetrile (วิตามินบี 17) และในความเป็นจริงแล้ววิตามินบี 17 ยังจะต้องมีความระมัดระวังในความเป็นพิษจากไซยาไนด์ด้วย หรือในความเป็นจริงแล้วสตรีผู้สูงวัยคนนี้ดีขึ้นเพราะน้ำมัน CBD ซึ่งพบได้มากในดอกกัญชงและกัญชา(บางสายพันธุ์)ซึ่งจะต้องรองานวิจัยในวันข้างหน้าต่อไป

แม้ว่าจะมีเรื่องน่ายินดีข้างต้น แต่ประเทศไทยจะต้องจับตาดูว่าภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น มีบริษัทใดมายื่นคำขอสิทธิบัตรสาร CBD หรือสารสกัดอื่นๆจากพืชกัญชามารักษาโรคมะเร็งรังไข่หรือไม่?

เพราะบริษัทรายเดิมคือ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ได้ยื่นจดสิทธิบัตรทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก่อนหน้านั้นไปแล้วว่าสารสกัดจากกัญชาช่วยบำบัดมะเร็งรังไข่ โดยระบุถึง สารสำคัญชื่อ CBD, CBDA, CBG, CBGA, CBGV, THCV ทั้งในรูปของสารเดี่ยวหรือผสมรวมกันมากกว่าหนึ่งสารโดยเฉพาะสารที่มีองค์ประกอบของ CBD และ CBG ด้วย อยู่ที่ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์จะปฏิเสธคำขอหรือไม่?


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่