นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายในญัตติการแก้ราคาผลผลิตทางการเกษตร ว่า ราคาปาล์มน้ำมันตกลงมาเหลือกิโลกรัมละประมาณ 3.50 บาท ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 3.80 บาท เท่ากับตอนนี้ เราขายกันในราคาขาดทุน
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราย้อนไปทบทวนโครงสร้างแล้วพบว่า ปาล์มที่ผลิตออกมา เราใช้บริโภคในประเทศถึง 90% จึงน่าจะเป็นเรื่องที่จัดการได้ง่าย ทางพรรคสนับสนุนให้นำไปผลิตเป็นไฟฟ้า ควบคู่กับการใช้แทนน้ำมัน หรือที่เรียกกันว่า B100 เพื่อสร้างการบริโภคอย่าวยั่งยืน ต้องขอบคุณไอเดียของนายเนวิน ชิดชอบ ที่เคยพูดเรื่องนี้ และจุดประกายให้พรรคไปศึกษา เพื่อผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม
นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอต่อมาคือเรื่องของโรงสกัด ควรจะสร้างในทุกพื้นที่ ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปลูกปาล์ม และหากโรงสกัดมีเพียงบางพื้น เท่ากับว่าเกษตกรที่ปลูกในพื้นที่ไกลโรงสกัดจะขายของไม่ได้ เพราะโรงสกัดจะไปซื้อในพื้นที่ใกล้เคียงแทน
“สำหรับมติของคณะกรรมการนโยบายน้ำมัน ที่ให้ย้ายอุปกรณ์จากโรงไฟฟ้ากระบี่ไปติดที่โรงไฟฟ้าบางประกงเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าจากปาล์มได้ ตนสนับสนุน แต่อยากให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมกับโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อเพิ่มการบริโภคน้ำมันปาล์มในกระบี่เช่นกัน”
นอกจากนั้น ควรเข้าไปดูด้วยว่าเวลาโรงสกัดซื้อปาล์มมักจะตั้งเงื่อนไขเรื่องเปอร์เซ็นน้ำมัน บางครั้งเป็นการกดราคาเกษตรกร วอนภาครัฐดูแลด้วย
ด้านนายนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายในญัตติเรื่องปัญหาราคาพืชผล ระบุว่า ตนเกิดมาในครอบครัวชาวสวนยาง รู้จักเรื่องยางเป็นอย่างดี
ก่อนยึดอำนาจ ราคายางตกมาอยู่ที่ 70 – 80 บาท ต่อกิโลกรั ม มีการประท้วง หลังจากนั้น 3 ปี ราคายางแย่ลงกว่าเดิม ตนเคยมายื่นเรื่องถึงนายกฯ เสนอแนวทางแก้ไข 7 ข้อ และเป็น 7 ข้อที่ตนจะเสนอในสภา ประกอบไปด้วย
1.ต้องเปิดตลาดการค้ายางให้มากขึ้น อาทิ ตลาดในแอฟริกา 2.รัฐบาลกับพ่อค้าต้องมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน 3.ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเกษตรกร 4.สรรหาคนเก่งมาดูแลการยางฯ 5.ต้องส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ 6.ต้องนำงานวิจัยมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม 7.ใช้ระบบ 4.0 จัดการปัญหาราคายาง
ส.ส.สงขลา กล่าวต่อว่า วันนี้ ราคายางแย่ลงกว่าเดิมมาก หากบอกว่าราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ในความเป็นจริงเกษตรกรจะได้เงินกิโลกรัม 15 บาทเท่านั้น เกษตรกรไม่มีทางลืมตาอ้าปาก ที่ตนอยากเสนอคือถึงเวลาต้องช่วยเหลือเกษตรกรก่อน ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการดูแลยกระดับราคาพืชผล โดยมีเกษตรกรเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นอยากให้ใช้แนวทางแก้ไขด้วยระบบแบ่งปันกำไร