นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ยื่นญัตติด่วนเรื่องปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตกรตกต่ำ โดยได้ฝากให้รัฐบาลใหม่ ยกเลิกโครงการประชารัฐ เพราะเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ โดยในช่วง 5ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ได้รับเงินจากโครงการนำไปซื้อสินค้าในร้านของเอกชนซึ่งเป็นร้านค้าของนายทุนรายใหญ่มาโดยตลอด ผลพวงจากโครงการนี้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์เพียงการจัดโครงการเพื่อคืนกำไรให้กับสังคม หรือ CSR เท่านั้น
“วิชาเศรษฐศาสตร์ 101 สอนให้ธุรกิจทำเพื่อกำไรสูงสุด สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา นายทุนเขามาช่วยภาครัฐ ก็เพื่อกำไรสูงสุด สุดท้ายเขาต่อรอง คือโครงการรถไฟความเร็วสูง”
นายจุลพันธ์ กล่าวถึง ราคากระเทียมภาคเหนือซึ่งประสบปัญหาราคาไม่มีเสถียรภาพในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ โดยราคาขายตกต่ำที่สุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6-7 บาท ขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท ทั้งนี้เกษตรกรได้พยายามขอให้ภาครัฐช่วยเหลือ ช่วงที่คณะรัฐมนตรีจัดการกระชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดลำปาง โดยขอให้ภาครัฐรับซื้อกระเทียมดิบ แต่ขณะนั้นการร้องขอถูกปฏิเสธ และภาครัฐได้เสนอว่าจะรับซื้อกระเทียมแห้ง 5 แสนตัน จากสต๊อกกระเทียมทั้งหมด 10 ล้านตัน ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท แต่จนถึงขณะนี้ ภาครัฐยังไม่มีการรับซื้อกระเทียมแต่อย่างใด
นอกจากปัญหาราคากระเทียมตกต่ำแล้ว ยังมีกระเทียมหนีภาษีจากประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ โดยมีขบวนการหลบเลี่ยงภาษีเต็มจำนวน จากเดิมที่จะต้องเสียภาษี 57% ขณะที่ภาครัฐไม่ได้เข้ามาจัดการเรื่องนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งจัดการล้งจีน และการเกี๊ยว หรือการบังคับให้เกษตรกรซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมื่อผลผลิตออกมาแล้วนายทุนรับซื้อในราคาถูก ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรเป็นอย่างมาก หากไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ เกษตรกรไทยจะไม่มีอนาคต โดยนายจุลพันธ์เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการการเกษตรแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย
นายจุลพันธ์ ยังได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเรื่องแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการคือ ภาครัฐต้องเข้ารับทราบปัญหาโดยตรงจากเกษตรกร ผ่านกลไกบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปสำรวจ สอบถามปัญหาสินค้าเกษตรรายตัว
“วันนี้พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนทุกวัน หากรัฐบาลทำเหมือนที่ผ่านมา รอให้มีคนร้องเรียน พอประชาชนร้องเรียนก็ตะคอกใส่ มีคนยื่นหนังสือก็ไม่รับ อย่างไรท่านก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้”
นอกจากนี้ยังเสนอให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองหาโอกาสใหม่ ด้วยการใช้กลไกตลาดกลางสินค้าการเกษตรของไทย โดยพบว่าที่ผ่านมาผลผลิตสินค้าเกษตร 60% ผ่านตลาดกลาง แต่ละจังหวัดมีตลาดกลาง 1-2 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงอยากให้ภาครัฐเข้าไปสนับสนุน นอกจากนี้ภาครัฐควรจัดทำปฏิทินการเกษตร ดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและเก็บผลผลิตได้ถูกต้อง
ขอบคุณเนื้อหาจาก PTCyberTalk