เมื่อวันที่ 7 ก.ค.62 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ภายหลังที่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปรับเงื่อนไขสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมีการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้สูงสุด 15 ปี พร้อมลดเบี้ยปรับ 75% เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดี และมีภาระหนี้ค้างชำระจำนวนมาก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าตัวแทนของพรรค จะนำนโยบายที่ได้รณรงค์หาเสียงไปเสนอต่อที่ประชุมคณะะกรรมการยกร่างนโยบายของรัฐบาลที่จะนำเสนอต่อรัฐสภา หนึ่งในนั้นคือนโยบาย “แก้หนี้ กยศ.”
นโยบายแก้หนี้ กยศ. ของพรรคภูมิใจไทย จะพบว่าพรรคร่วมรัฐบาลได้นำเสนอนโยบายในช่วงการรณรงค์หาเสียงจะมีพรรคภูมิใจไทย ที่ได้นำเสนอ 6 เรื่อง ประกอบไปด้วย 1.ปลดภาระผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน อีกต่อไป ทั้งหนี้เก่า และ หนี้ใหม่ 2.ไม่มีดอกเบี้ย เนื่องจาก กยศ.ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ แสวงหากำไร 3.ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ เนื่องจาก กยศ. ต้องช่วยหาทางให้ผู้กู้มีความสามารถชำระหนี้ ไม่ใช่คิดหาประโยชน์สูงสุดจากลูกหนี้ ต้องมองเขาเป็นลูกหลานที่ต้องให้โอกาส 4.ใช้ภาษีเงินได้ประจำปี มาหักลดยอดหนี้เงินกู้ได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี และเงินรายได้จากภาษี มีความคุ้มค่ากว่าเงินกู้ หลายเท่า 5.ผ่อนคืนเงินต้น 10 ปี 6. พักหนี้ 5 ปี สำหรับ ลูกหลาน ที่ไม่มีเงินจะชำระจริงๆ เพื่อเป็นการหยุดการดำเนินคดี ไม่ต้องฟ้องร้องบังคับคดี หรือ ฟ้องยึดทรัพย์ ไว้ 5 ปี ให้ผู้กู้ ได้มีเวลา ตั้งสติ ตั้งตัว กันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคภูมิใจไทย ได้นำเสนอนโยบาย แก้หนี้ กยศ . หรือไม่ และจะขับเคลื่อนเรื่องนั้อย่างไรต่อไป และในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทยได้ที่นั่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 1 ตำแหน่ง จะมีการแบ่งงานอย่างไรด้วย และได้ดูกยศ. หรือไม่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กยศ. ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยกองทุนฯให้โอกาสผู้กู้ในการผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นกับจำนวนทุนทรัพย์ (เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ) คงเหลือ ณ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และ หากผู้กู้ยืมผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง จะนำส่วนลดเบี้ยปรับกลับเข้ามาเป็นหนี้ตามคำพิพากษาทันที
ดังนี้ ทุนทรัพย์ไม่เกิน 250,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 9 ปี, ทุนทรัพย์ตั้งแต่ 250,000 – 400,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 12 ปี ทุนทรัพย์มากกว่า 400,000 บาทขึ้นไป ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ กยศ. ที่ออกมาในแต่ละปีไม่เหมือนกัน จนมีหลายมาตรฐาน เกิดความลักลั่น และยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้