สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ยื่นข้อเสนอ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย 4 ประเด็นหลัก ปรับปรุงกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม ยกฐานะ อสม. เพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ และตั้งกรมบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อรองรับภาระงานนโยบายด้านสุขภาพปฐมภูมิ หวังพรรคภูมิใจไทยนำไปพิจารณาเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ยื่นข้อเสนอแก่ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย อาทิ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ซึ่งมาร่วมเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกระดับศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่มหาวิยาลัยราชภัฎสงขลา เพื่อให้พรรคภูมิใจไทยนำไปพิจารณาประกอบการกำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อเสนอมีทั้งหมด 4 ประเด็น ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เสมอภาคเป็นธรรม มี 5 ข้อย่อย คือ
1.1 เสนอ พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ 1.2 ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ความก้าวหน้าที่ไม่เสมอภาคเป็นธรรมต่อลูกจ้าง 1.3 เสนอระเบียบออกจากสำนักงาน ก.พ. และตั้ง ก.สธ. ขึ้นมาบริหารจัดการและดูแลบุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในสังกัดด้วยตัวเอง 1.4 เสนอกองทุนการออมเพื่อสุขภาพแห่งชาติ เพื่อลดงบประมาณของรัฐในการซ่อมสุขภาพและเป็นหลักประกันการดูแลสุขภาพในการก้างสู่สังคมสูงอายุ และ 1.5 เสนอ พ.ร.บ.ที่สนับสนุนการส่งเสริมป้องกันโรค โดยมุ่งนโยบาย “ไม่ป่วยจ่ายเท่าไหร่”
ประเด็นที่ 2.การยกฐานะ สิทธิ สวัสดิการ ค่าตอบแทน ค่ารักษาพยาบาล อสม.มี 2 ข้อย่อย คือ 2.1 ยกฐานะ อสม. พัฒนาเป็น Care Giver หรือ Community Public Health Assistance หรือ Health Promotion Assistance เพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ และ 2.2 ปรับปรุงค่าป่วยการ อสม. ค่าตอบแทน สิทธิ สวัสดิการ และค่ารักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสมต่อภาระงานและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 3. การยกฐานะ สิทธิ สวัสดิการ ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ทุกสายงานในกระทรวง มี 2 ข้อย่อย คือ 3.1 การบรรจุราชการ การปรับตำแหน่ง ความก้าวหน้า โดยในส่วนของงานบริหารบุคคลในจังหวัดชายแดนใต้ (ว.16 ชายแดนใต้) ให้มีการปรับตำแหน่งคนที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง, การเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) ให้หมดก่อนบัญชีจะหมดอายุ, การบรรจุเป็นข้าราชการ การปรับตำแหน่ง การพิจารณาใช้ตำแหน่งว่างของทุกวิชาชีพ ทุกสายงานอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ, การทบทวนการยุบเลิกการบรรจุข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมของหลายสายงานในกระทรวง และ การไหลเลื่อนตำแหน่งสู่ระดับที่สูงขึ้นจนถึงระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป และเข้าสู่ตำแหน่งบริหารได้ทุกวิชาชีพทุกสายงานโดยไม่มีเงื่อนไขกีดกันความก้าวหน้าระหว่างวิชาชีพ
3.2 ค่าตอบแทน ค่าจ้าง เงินเดือน โดยขอให้พิจารณาเยียวยากรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการของบุคลากร เช่น กลุ่มอดีตพนักงานของรัฐที่ถูกฉีกสัญญาทุนจนอายุราชการหาย เงินเดือนเหลื่อมล้ำ หรือกลุ่มอดีตลูกจ้างประจำที่ไปศึกษาต่อเพื่อความก้าวหน้าและถูกลดเงินเดือนอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับค่าจ้างลูกจ้างทุกประเภทในอัตราไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของกฎหมายแรงงาน, เสนอปรับค่าตอบแทนฉบับที่ 5 (ค่าเวร ค่าหัตถการ) ให้เหมาะสมต่อภาระงานและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน, เสนอยกเลิกเงินค่าตอบแทนฉบับ 10, 11 และ 12 โดยยกร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขเงื่อนไขค่าตอบแทนฉบับใหม่ให้เสมอภาค เป็นธรรม ครอบคลุมทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน โดยใช้เงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเท่าเดิม รวมทั้งสนับสนุนค่าตอบแทนวิชาชีพ เงินประจำตำแหน่งระดับชำนาญการขึ้นไป และปรับปรุงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการการแพทย์และสาธารณสุข (พดส.) สำหรับวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน
ประเด็นที่ 4.การจัดตั้งกรมบริการสุขภาพปฐมภูมิเพื่อรองรับภาระงานนโยบายด้านสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมือง ชนบท พื้นที่กันดาร ห่างไกลและยากลำบาก มี 2 ข้อย่อย คือ 4.1 การลงทุน รพ.สต. 1 หมื่นแห่ง งบหมื่นล้านบาท บุคลากร 1 หมื่นคน (เติมคน เงิน ของ ให้ครบถ้วนครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งโดยไม่เลือกปฏิบัติ) 4.2 การจัดสรรงบประมาณโดยการโอนไปยัง รพ.สต. โดยตรง เพื่อให้ รพ.สต.ได้รับงบประมาณครบถ้วน และมีศักยภาพในการดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่
นายริซกี กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นข้อเสนอแก้ตัวแทนพรรคภูมิใจไทยแล้ว ในโอกาสต่อไปจะเข้ายื่นข้อเสนอแก่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ เพื่อนำไปประกอบการกำหนดนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย