เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชื่อรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Supisarn Bhakdinarinath – สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ในหัวข้อ “9 ปี อุบัติเหตุคดี แพรวา กับ 3 ประเด็นที่สังคมต้องทบทวนบทเรียน” โดยตอนหนึ่งระบุว่า คดีที่สำคัญ อันเป็นคดีจากการขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ถือได้ว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด และมี 3 ประเด็นที่สำคัญ ที่อยากให้สังคมไทยได้ทบทวนบทเรียนเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียซ้ำขึ้นอีก คือ
- การบังคับใช้กฎหมายนับตั้งแต่ผู้ขับขี่บนท้องถนน จะพบว่า มีการละเมิดจากการปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์กฎหมายกำหนด เด็กและเยาวชนที่ขาดเกณฑ์และขาดสภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ในการใช้ยานพาหนะ นำเอายานพาหนะมาใช้บนถนนหนทาง โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถหรือครอบครัวที่มีความสามารถในการจัดการพาหนะให้ได้ ถือเป็นความประมาทของครอบครัว ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เจ้าพนักงานบังคับตามกฎหมายเอง ก็มักจะไม่เข้มงวดต่อผู้ขับขี่ รวมถึงปราศจากการควบคุมอย่างต่อเนื่องและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด
- การดำเนินคดี ในชั้นการดำเนินคดี สิ่งที่สำคัญในคดีขับรถโดยประมาท คือ การเจรจาและการเยียวยาเบื้องต้นจากหน่วยงานของรัฐเอง จากคู่กรณีเอง และผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ ซึ่งจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับกรณีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมาย การวิเคราะห์ข้อมูลของสภาพถนนเหตุการณ์ สภาวะแวดล้อมต่างๆ ค้นหาความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวอย่างแท้จริง ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายนั้นควรจะรวดเร็วและเป็นธรรมแก่คู่กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาให้กับเหยื่อ ว่าควรจะอยู่ในระดับที่เท่าไหร่และสมควรที่จะได้รับเมื่อไหร่ ตาม วัน เวลาที่เหมาะสม มิใช่ให้มีการสืบคดีหรือต่อสู้ทางคดีในทางแพ่งยาวนาน และทุกกระบวนการของการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคดีที่เกิดจากความเสียหาย ควรนำมาวิเคราะห์และค้นหาความจริง เพื่อหาแนวทางการป้องกันร่วมกันเหตุที่เกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งขณะนี้มีเทคโนโลยีไม่ว่าจะ เป็นกล้อง CCTV, GPS ระบบการติดตามและแท็กของรถยนต์ตลอดจนเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ปรากฏ ก็สามารถนำมารวบรวมและวิเคราะห์ลงในฐานข้อมูลและสามารถที่จะนำมาสังเคราะห์แยกเป็นประเด็นประเด็นได้โดยเฉพาะการเอา Big Data มาใช้
- การเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของสังคม เพราะความสูญเสียดังกล่าวไม่สามารถเรียกคืนมาได้ และเป็นความสูญเสียขนาดใหญ่ที่แต่ละครอบครัวและสังคมได้รับการกระทบกระเทือน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้กระทำ หากยังขาดจิตสำนึกในการที่จะดูแลหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมที่เกิดขึ้นหรือทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมทางลบอีกอย่างต่อเนื่องแล้ว คงจะต้องทบทวนการกระทำของผู้กระทำผิดเป็นส่วนสำคัญ เน้นไปยังครอบครัว ตลอดจนการอบรมสั่งสอนตั้งแต่เยาว์วัยของเยาวชนและการบ่มเพาะ เรื่องนี้ถือเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคมไทย เด็ก เยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าหากยังขาดความสำนึกดังกล่าวอยู่ ก็จะพบว่าสังคมไทยจะมีสภาพของการเกิดอุบัติภัยและอุบัติเหตุขนาดใหญ่ ลักษณะคดี เรื่องราวต่างๆ ดังกล่าวนี้อยู่เรื่อยๆ
“ยิ่งในกรณีที่ผู้กระทำไม่สามารถที่จะดำเนินการเยียวยาหรือไม่มีสำนึกในการดูแลผู้บาดเจ็บผู้เสียชีวิตด้วยแล้ว ซึ่งความบาดเจ็บมิใช่เกิดที่แก่กายเท่านั้น แต่ยังบาดลึกเข้าไปในจิตใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้างของครอบครัวที่ถูกกระทำอย่างชัดเจน จนเป็นรอยร้าวสามารถแบ่งให้เห็นถึงขนาดชนชั้นและการเข้าถึงความเป็นธรรมของสังคม ตลอดจนการได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันหรือไม่? เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำถามที่ภาครัฐเองควรที่จะต้องเริ่มเอาใจใส่ และเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้สังคมตั้งคำถามเสมอมา” พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าว