นายอัครกฤษ นุ่นจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสถาบันธรรมาภิบาลไทย พร้อมด้วย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรศ.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า และสมาพันธ์คนงานรถไฟ ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เพื่อไม่ให้เสียค่าโง่ ขอให้เปิดเผยสัญญารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
นายอัครกฤษ กล่าวว่า สนามบินดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมขอดูข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ ด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าว เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าโครงการสูงถึง 224,544 ล้านบาท และรัฐร่วมลงทุนถึง 140,000 ล้านบาท แต่กลับไม่เคยมีการเปิดเผยสัญญาให้กับประชาชนผู้ที่เสียภาษีได้รับทราบ รวมถึง ในการเปิดให้เอกชนร่วมประมูลโครงการ ซึ่งปรากฏว่าบริษัทที่ประสงค์ยื่นประมูลโครงการมี 31 ราย และที่สุดการเจรจากันเองของเอกชน จึงเหลือผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย คือกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม cph) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการฮั้วประมูลหรือไม่
นายอัครกฤษ กล่าวว่า ภายหลังจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ชนะการประมูล ก็มีการเจรจาต่อรองกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเสนอนอกทีโออา อาทิ ขอให้ขยายการสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีที่ 1 ของการก่อสร้างจากเดิมจะเริ่มอุดหนุนในปีที่ 6 ขอให้รัฐลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่จาก 70% เหลือ 5% เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าสู่ตลาดหุ้นแห่งประเทศไทย ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเพดานการกู้เงินของเครือ CP เนื่องจากปัจจุบัน CP ติดเพดานเงินกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า ขอให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหายที่มีผลกระทบต่อหารเดินรถ เป็นต้น