วันที่ 8 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมหารือแนวทางการให้บริการของรถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย ตัวแทนกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือกับตัวแทนกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้อง มีข้อสรุป 4 ข้อดังนี้
1. ตัวแทนกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะได้ขอให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการกับบริษัท แกร็บ ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น โดยไม่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ ขบ. ตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว และทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ซึ่งดูแลเรื่องแอพพลิเคชั่น ให้ได้ข้อสรุปเรื่องการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นภายใน 1 เดือน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถไปด้วยกันได้ทั้งระบบเก่าและระบบใหม่
2. ขอให้การจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างเสรี โดยไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ทั้งนี้ ต้องการให้ ขบ. ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมคณะกรรมการ โดยได้ข้อสรุปว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการเป็น 2 ระดับ คือ 1. คณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครที่จัดตั้งตามสำนักงานขนส่งพื้นที่ 5 เขต จะจัดประชุมทุก 3 เดือน ซึ่งจะมีผู้แทนจากกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะชุดละ 3 คน เพื่อนำปัญหาอุปสรรคมาเข้าคณะกรรมการชุดนี้เพื่อแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และ 2 . คณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งมีอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นประธาน ซึ่งจะจัดประชุมอย่างน้อยปีละครั้ง โดยจะเพิ่มตัวแทนของกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะอีก 5 คน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา
3. การออกกฎหมายควบคุมกำกับดูแลการนำรถส่วนบุคคลมารับ – ส่ง ผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นต้องไม่มีการข้ามวินข้ามเขตของรถจักรยานยนต์สาธารณะเดิม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายว่า การจัดทำแอพพลิเคชั่นต้องทำอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของ ขบ. และต้องไม่ให้กระทบกับการประกอบกิจการของกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะเดิม โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาหารือให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
และสุดท้าย เรื่องจุดจอดรถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขไม่ให้ขัดกับระเบียบของกรุงเทพมหานคร ในการใช้ทางเท้าเป็นจุดจอด โดย ขบ. จะสำรวจว่ามีพื้นที่สาธารณะตรงไหนที่สามารถสร้างเป็นจุดจอดรถให้วินทั้งหมดในกรุงเทพฯ ได้ต่อไป