หน้าแรก news รมว.ดีอี ปักหมุด 3 เดือนเขยื้อนดิจิทัลไทยตั้งแต่ฐานราก เลือก 1 จังหวัดชายขอบ เชื่อรายได้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นแน่นอน

รมว.ดีอี ปักหมุด 3 เดือนเขยื้อนดิจิทัลไทยตั้งแต่ฐานราก เลือก 1 จังหวัดชายขอบ เชื่อรายได้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นแน่นอน

0
รมว.ดีอี ปักหมุด 3 เดือนเขยื้อนดิจิทัลไทยตั้งแต่ฐานราก เลือก 1 จังหวัดชายขอบ เชื่อรายได้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นแน่นอน
Sharing

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.62 เวลา 20.00 น.อาคารดีป้า ลาดพร้าว – นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับหน่วยงานเครือข่ายสมาคมดิจิทัล และ Digital Influencers ซึ่งมาร่วมระดมสมองในกิจกรรม “10 Key Challenges towards Digital Thailand” เพื่อเป็นการรับฟังปัญหา-อุปสรรค พร้อมร่วมวางแนวทางพิชิต Digital Thailand จากกลุ่มคนดิจิทัลตัวจริง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า หลายคนมองว่าประเทศไทยไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเพียงแค่ความฝัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วศักยภาพของประเทศไทย ทั้งบุคลากร ความพร้อม และทำที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ใจกลางอาเซียนนั้น เราไม่ได้เสียเปรียบใคร เพียงแต่ที่เราไปได้ไม่ถึงไหนเนื่องจากเราไม่ได้พัฒนา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญคือ ระบบราชการที่ไม่ได้สนับสนุนให้การขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราเดินช้าลงอย่างน่าเสียดาย

“ผมขอเวลา 3 เดือน ที่จะเอาระบบดิจิทัลช่วยประชาชนในระดับฐานรากใน Sector เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 30 ล้านคน โดยเลือก 1 จังหวัดนำร่องที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำที่สุด โดยทำงานผ่านทาง วิสาหกิจชุมชน นำดิจิทัลไปใช้วางแผนการเพาะปลูก พัฒนาผลผลิต วางแผนการตลาดว่าผลผลิตจะนำไปขายใคร ช่องทางใด แต่จะไม่อนุญาตให้ภาครัฐเข้าไปทำแอพพลิเคชั่นไปแข่งกับภาคเอกชน เพราะเขาทำได้ดีกว่าเพราะเขามีความพร้อม จากนั้นจะมอนิเตอร์ทุกเดือน จนครบ 3 เดือน เชื่อว่ารายได้ภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น” รมว.ดีอี กล่าว

นอกจากนี้ รมว.ดีอี ยังกล่าวด้วยว่า ไม่เฉพาะ Sector เกษตรกรเท่านั้น ส่วนของ โลจิสติกส์ และ บิ๊กดาต้า ก็จะพัฒนาในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากมีความสำคัญ เวลานี้ยังติดปัญหาที่หน่วยงานราชการหลายแห่งยังไม่ให้ความร่วมมือ และยังหวงข้อมูล โดยคิดเพียงว่าจะทำให้ภารกิจและบทบาทของตัวเองลดลง ซึ่งในความจริงแล้ว การแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อการวางแผนร่วมกันนั้นมีความสำคัญมาก และผู้ที่จะได้ประโยชน์มี 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มแรก รัฐบาลที่จะวางแผนการทำงานเพื่อประโยชน์กับประเทศชาติ กลุ่มที่ 2 คือ ประชาชนจะสามารถวางแผนงบประมาณของตัวเองได้ และ กลุ่มที่ 3 กลุ่ม ผู้ผลิต ที่จะสามารถวางแผนการลงทุนได้ โดยในระยะแรกนี้จะเลือกใช้บิ๊กดาต้าในกลุ่มท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยจะเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาหารือร่วมกัน มาแชร์ข้อมูลกันเพื่อวางแผนการจัดการข้อมูลทั้งประเทศ

“ผมรู้เรื่องดิจิทัลน้อยกว่าพวกท่าน เพราะฉะนั้นผมจึงต้องฟังให้มาก เพื่อปิดปมด้อยความไม่รู้ของตัวเอง และยิ่งฟังมากผมก็จะยิ่งรู้มาก และสามารถนำไปวางแผนการทำงานได้ โดยยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” รมว.ดีอี กล่าว

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า งานในครั้งนี้ดำเนินงานตามนโยบายของ รมว.ดีอี ถึงความต้องการในการขับเคลื่อน Digital Thailand อย่างเร่งด่วน ภายใต้กรอบแนวคิด “3 ท” ได้แก่ ทันสมัย เท่าทัน และ ทั่วถึง  โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้เชิญกลุ่มเครือข่ายด้านดิจิทัล และ Influencer รวมกว่า 40 หน่วยงาน อาทิ กลุ่มสมาคมด้านซอฟต์แวร์และไอซีที กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล คลอบคลุมเทคโนโลยี Blockchain, Artificial Intelligent :AI, Digital Asset: Cryptocurrency กลุ่ม Influencer ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงประชาชน และ New Media เพื่อมาร่วมระดมสมอง แบ่งปันไอเดีย พร้อมพูดคุยหารือถึงปัญหา และ ความท้าทายในการพัฒนาประเทศสู่ Digital Thailand โดยได้แบ่งรูปแบบการระดมสมองออกเป็น 10 กลุ่ม ตามความเชี่ยวชาญ เพื่อยกประเด็นปัญหาหรือความท้าทายที่จะนำไปสู่การดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงดีอี โดยมุ่งเน้นเชิงนโยบาย หรือ กฎหมาย เพื่อให้สามารถแก้ไขในระดับประเทศไทย เกิดเป็นแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่กับการให้ความรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าทันและทั่วถึง

สำหรับการนำเสนอโดยภาพรวมของกลุ่มเครือข่ายดิจิทัล และ Influencer มุ่งเน้นถึงประเด็นปัญหาที่มีอยู่ทั้งในด้านการให้บริการของภาครัฐที่กลายเป็นอุปสรรค ซึ่งหากว่าภาครัฐสามารถพัฒนาแนวทางที่จะเชื่อมโยงบริการ และง่ายต่อการใช้งาน ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้ ด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ทั้งการเพิ่มทักษะ และเสริมทักษะใหม่ รวมถึงการผสานทักษะด้านดิจิทัลเข้ากับความเชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพ เพื่อสร้างนวัตกรรมในอาชีพของตนเอง และเปิดกว้างในด้านแรงงานดิจิทัล ทั้งนี้ได้มีการชี้ให้เห็นว่ากำลังคนดิจิทัลของไทยนั้นมีความสามารถไปได้ไกลถึงระดับโลก แต่กลับไม่ถูกผลักดันเท่าที่ควร รวมถึงไม่ได้รับความไว้วางใจแม้แต่กับคนในประเทศเอง

ด้านแนวคิดของ Digital Influencer ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ในปัจจุบันอาจยังไม่ทั่วถึงพอ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างโอกาสให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำให้ภาครัฐมีแนวทางในการให้ความรู้แก่ประชาชนในหลากหลายเรื่องสำคัญที่ปัจจุบันประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจไม่มากพอ อาทิ การให้ความรู้ด้านภาษา การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี การให้ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การให้ความรู้ด้านภาษี และการให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ (Digital Workforce Community)

ทั้งนี้ รมว.ดีอี สรุปว่า เรื่องที่ได้รับฟังในวันนี้จะนำไปสรุปหาแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน ก่อนจับกลุ่ม เพื่อนำมาตกผลึกและกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน โดยลงลึกถึงวิธีการที่ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3-6 เดือน ซึ่งจะจัดต่อเนื่องประมาณภายใน 2 สัปดาห์ นี้


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่