หน้าแรก news คิวแน่น! “ศักดิ์สยาม” ต้อนรับทูตเมียนมา-ผู้แทนไจก้า ก่อนประชุมทีมคมนาคม เตรียมแปรนโยบายเร่งด่วนสู่การปฏิบัติ

คิวแน่น! “ศักดิ์สยาม” ต้อนรับทูตเมียนมา-ผู้แทนไจก้า ก่อนประชุมทีมคมนาคม เตรียมแปรนโยบายเร่งด่วนสู่การปฏิบัติ

0
คิวแน่น! “ศักดิ์สยาม” ต้อนรับทูตเมียนมา-ผู้แทนไจก้า ก่อนประชุมทีมคมนาคม เตรียมแปรนโยบายเร่งด่วนสู่การปฏิบัติ
Sharing

(16 ส.ค.62) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 1/2562 โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจราจรทางบก คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดอัตราความเร็วสูงสุดในการขับขี่แตกต่างกัน ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกัน โดยกำหนดความเร็วสูงสุดในการขับขี่รถตามประเภทของถนน ไม่ใช่มิติของพื้นที่ เช่น ถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไปที่มีการแบ่งทิศทางจราจรแยกออกจากกัน โดยมีเกาะกลางหรือกำแพงกั้นที่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และถนนที่มีช่องจราจร 4 ช่องจราจรหรือน้อยกว่า ที่มีการแบ่งทิศทางแยกออกจากกันด้วยเส้นสีหรือเกาะสีที่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งต้องพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมและกำหนดข้อความในกฎหมายให้ครอบคลุมและชัดเจนก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป เบื้องต้นในระหว่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กระทรวงฯ สามารถออกกฎกระทรวงฯ เพื่อใช้สำหรับเส้นทางที่มีความพร้อมหรือเส้นทางสายหลักที่สามารถใช้ความเร็วรถได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้มอบให้ ทล. และ ทช. ไปศึกษาเพิ่มเติมต่อไป รวมทั้งปรับปรุงป้ายบอกความเร็วให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มองเห็นได้ชัดเจนหรือพิจารณาใช้ป้ายแบบ VMS (Variable Message Sigh) และพิจารณาวางแท่งแบริเออร์แทนเกาะกลาง เพื่อให้รถสามารถใช้ความเร็วได้ เนื่องจากมีพื้นที่ผิวจราจรเพิ่มขึ้น โดยใช้แบร์ริเออร์ที่มีส่วนผสมจากยางพาราตามนโยบายกระทรวงฯ และในอนาคตให้พิจารณาออกแบบถนนโดยใช้แท่งแบริเออร์แทนเกาะกลางตามความเหมาะสม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า สำหรับนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วฯ เบื้องต้นต้องการใช้กับเส้นทางหลักที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรเกษม และถนนมิตรภาพ ไม่ได้ใช้กับถนนทุกประเภท ทุกช่องจราจร และใช้ตลอดเส้นทาง เพียงแต่เป็นความเร็วสูงสุดที่สามารถใช้ได้เมื่อมีการกำหนดในกฎหมาย ซึ่งต้องกำหนดตามความเหมาะสมของถนนและกำหนดความเร็วรถของแต่ละช่องจราจรให้ชัดเจน รวมถึงความเร็วขั้นต่ำของแต่ละช่องจราจร เพื่อลดการชะลอตัวและแก้ไขปัญหาการจราจร ส่วนมาตรฐานความปลอดภัยทาง ทล.  ทช. ต้องไปพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากที่ได้ทำการศึกษาไว้แล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณานโยบายปรับเวลาการอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ตั้งแต่เวลา 24.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. เบื้องต้นที่ประชุมมีแนวทางให้รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปวิ่งเฉพาะเวลา 00.00 – 04.00 น. (เพียง 4 ชั่วโมง) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีข้อผ่อนผัน อาทิ ถนนนอกเขตพื้นที่วงแหวนรอบนอก อนุญาตให้รถบบรรทุกวิ่งได้ 24 ชั่วโมง ยกเว้นถนนบรมราชชนนีถึงแยกพุทธมณฑล ถนนเพชรเกษม ถนนพระราม 2 ถนนสุวิทวงศ์ ซึ่งต้องมีการกำหนดช่วงกิโลเมตรที่จะผ่อนผันต่อไป และบนถนนวงแหวนรอบนอกอนุญาตให้รถบรรทุกวิ่งได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน (21.00 – 06.00 น.) เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ ขบ. ชี้แจง รับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ ทล. ทช. กำหนดระยะกิโลเมตรของถนนที่ได้รับการผ่อนผันโดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ในการนี้ ที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีอำนาจทำหน้าที่ที่สำคัญ อาทิ ศึกษาวิเคราะห์ทางด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เหตุผลและข้อเท็จจริง เพื่อบูรณาการให้เกิดแนวทางที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศึกษาวิเคราะห์และกำหนดมาตรฐานที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถปฏิบัติได้ และให้กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ กฎต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นให้ครบถ้วนให้แล้วเร็จภายใน 90 วัน นับจากวันประชุมครั้งแรก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เวลา 15.30 น. นายศักดิ์สยาม ได้ให้ Mr. Katsura Miyazaki, Chief Representative, JICA Thailand และคณะเข้าพบ เพื่อเยี่ยมคารวะ ในโอกาสรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่าง JICA กับกระทรวงคมนาคม เช่น การศึกษาและจัดทำทิศทางนโยบายการพัฒนาแผนระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน และรายงานโครงการพัฒนาสถานีบางซื่อสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นต้น

จากนั้น เวลา 14.45 น. H.E. U Myo Myint Than เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าพบนายศักดิ์สยาม เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสรับตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงคมนาคม และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์การใช้ การบริหาร และการบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาข้ามแม่น้ำเมย ตองยิน แห่งที่ 2  ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะลงนามความตกลงฯ ในเดือนกันยายน 2562 ในการนี้ได้มอบให้กรมทางหลวงพิจารณารายละเอียดที่จะต้องดำเนินการต่อไป


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่