มติชน รายงานว่า ภายหลังจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เเละ หัวหน้าพรรค ระบุกับสื่อมวลชนว่าจะเลิกกิจการพรรค คุณสมบัติส.ส.ไม่ขาด เพียงเเต่ต้องมีพรรคใหม่สังกัดใน 60 วัน เเละจะย้ายไปสังกัดพรรคที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานข่าวจากพรรคประชาชนปฏิรูป แจ้งว่า นายไพบูลย์ จะไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เพราะเป็นพรรคเเกนนำรัฐบาลเเละหนุนพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งนโยบายพรรคพลังประชารัฐสอดรับกับนโยบายพุทธศาสนาที่พรรคประชาชนปฏิรูปหาเสียงไว้ ส่วนเหตุผลที่เลิกกิจการพรรค เพราะกรรมการบริหารพรรคมีภารกิจส่วนตัวเยอะจนไม่มีเวลาทำกิจการของพรรคได้ เเละเมื่อหารือกันเเล้วพบว่าเเนวทางของพรรคพลังประชารัฐตอบโจทย์ที่นายไพบูลย์ควรจะย้ายไปสังกัด
ล่าสุด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน บัตรเลือกตั้งสองใบ เขาได้เป็นบัญชีรายชื่อจากบัตรเลือกตั้ง ก็ถือว่ามีสถานะเป็นส.ส.แล้ว เมื่อยุบพรรคก็ไปหาพรรคใหม่อยู่ได้ใน 60 วัน แต่กติกาใหม่ บัตรเลือกตั้งใบเดียว จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อผูกอยู่กับคะแนนเขตที่เลือกพรรคนั้น
ผมจึงมีความเห็นว่า 1.โอนคะแนนไปให้พรรคใหม่ไม่ได้ เพราะตอนประชาชนกาบัตร เขาไม่ได้กาให้พรรคใหม่ 2.กกต.ต้องคำนวณส.ส.บัญชีใหม่ทั้งระบบ โดยตัดคะแนนพรรคนายไพบูลย์ออกและจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจากส.ส.ที่พึงจะมีแต่ละพรรคใหม่
3.นายไพบูลย์ ต้องเลือกไปอยู่พรรคที่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม (หากเขารับ) และคงสถานะเป็นส.ส. (แต่หากไม่รับ ความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง) 4.ไม่ควรจบง่ายๆ ว่ายุบแล้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ทันที เพราะเช่นนั้น บรรดาพรรค 1 เสียงทั้งหลายจะทำตาม เพื่อหลีกความเสี่ยงในความไม่แน่นอนที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี หลังจาก 24 มี.ค.62 ว่าอาจถูก กกต.คำนวณใหม่ และหมดสภาพการเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับ กรณีพรรคไทยรักธรรม
เรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามองและดูแนวการวินิจฉัยจาก กกต. ชุดปัจจุบันว่าจะมีมติอย่างไร