เรียกว่าเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ทำงานหนักที่สุดก็ว่าได้ สำหรับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ลุยงานแบบเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หนึ่งด้วยเพราะเดินตามแนวทางพรรคภูมิใจไทย ที่สถาปนาตัวเองเป็นพรรคของคนทำงาน
นอกจากนั้น โดยนิสัย ยังเป็นคนทำงานเร็ว ทำงานลุย ไม่ต่างจากพี่ชายอย่าง “ลุงเนวิน” นายเนวิน ชิดชอบ ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการทำงานเก่งกาจ หาตัวจับยาก
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การขับเคลื่อนของกระทรวงคมนาคม จึงไวปานเครื่องบิน
เพราะสัปดาห์แรกนับตั้งแต่รับตำแหน่ง รัฐมนตรีศักดิ์สยามเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหารถติดบริเวณถนนพระราม 2 ส่งผลให้อัตราการเคลื่อนรถเร็วขึ้น 25%
จากนั้นลุยถนนวิภาวดี ตรวจสอบระบบระบายน้ำ แก้ปัญหาฝนตก น้ำท่วม ส่งผลให้การจราจรในช่วงฝนตกดีขึ้นถนัดตา
นอกจากนั้น ยังลุยพื้นที่ต่างจังหวัด หารือเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรแก่ประชาชน
โดยหลายนโยบายสร้างความตกตะลึงแก่สังคมไม่น้อย อาทิ การให้รถวิ่งบนถนน 4 เลนด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชั่วโมง จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ 90กม./ชั่วโมง, การไม่ยกเลิกรถตู้, ไปจนถึงการใช้แบริเออร์ยางพาราแทนเกาะกลาง ซึ่งนักวิชาการ “ฝ่ายค้าน” บางท่านออกมาโจมตีแบบสาดเสียเทเสีย
แต่นี่คือแนวคิด “ใหม่” เกือบทั้งหมด ซึ่งถ้าหากล้วงลึกลงไปในเหตุผล จะพบว่าล้วนเป็นเรื่องที่น่านำปฏิบัติ เพราะมีคำอธิบายที่ต้องรับฟัง เริ่มจากการแก้กฎกรอบให้รถสามารถวิ่งบนถนน 4 เลน ได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น
แหล่งข่าวภายในกระทรวงอธิบายว่า กฎหมายฉบับเก่าจำกัดความเร็วที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถของรถในตอนนั้น แต่ปัจจุบัน ในความเป็นจริง ประชาชนที่ขับขี่บนถนน 4 เลน ล้วนขับเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะรถมีสมรรถนะที่สูงขึ้น และมีระบบความปลอดภัยที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แนวคิดดังกล่าวจึงเกิดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
ขณะที่เรื่องรถตู้ การเปิดช่องอนุญาตให้รถตู้ ยังดำเนินกิจการอยู่ได้ แหล่งข่าวด้านคมนาคม ให้อธิบายสาเหตุว่า
ข้อ 1. สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอคือให้เป็นสิทธิของผู้ประกอบการ ใครอยากเปลี่ยนเป็นไมโครบัส ก็เปลี่ยนได้ไม่ได้ห้าม ตามความเหมาะสมกับการบริการของแต่ละพื้นที่ และสถานะเศรษฐกิจของแต่ละคน เพื่อไม่เป็นการมัดมือชกไม่เป็นการบังคับซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและการลงทุน
ส่วนการขยายเวลารถตู้หมดอายุจากเดิม 10 ปีเป็น 12 ปี เพื่อลดภาวะค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แต่รถตู้แต่ต้องผ่านการตรวจคุณภาพ และให้หารือกับกรมการขนส่งทางบกเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งไม่ให้เกิดการโกงไมล์ หรือการโกงอายุรถตู้
ข้อ 2. มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนว่า อุบัติเหตุบนถนนเกิดจากผู้ขับขี่บกพร่อง และ ประมาท เมาแล้วขับ มากกว่าเกิดจากยานพาหนะ
ข้อ 3. หากมีการบังคับให้ปรับเปลี่ยนจากรถตู้เป็นไมโครบัสทั้งหมด จะทำให้เกิดปัญหาไม่มีรถให้บริการประชาชน เพราะผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัสมาให้บริการ เนื่องมีราคาสูงกว่ารถตู้ 1 เท่าตัวจากรถตู้ 1 ล้านบาทเศษเป็น 2 ล้านบาทเศษ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัส และหากมีต้นทุนรถเพิ่ม ก็จะกระทบกับการบริการประชาชนทั้งราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น และรถที่ไม่เพียงพอ
ข้อ 4. รถตู้เป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย มีการจ้างแรงงาน สร้างรายได้ให้คนไทย แต่รถไมโครบัส เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หากใช้รถไมโครบัส100% ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และ คนงานไทยที่จะไม่มีงานทำในสภาวะที่ปัญหาเศรษฐกิจปากทองเป็นปัญหาหลักของประเทศตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ที่จะต้องเร่งแก้ไขด่วน
ข้อ 5. มีผู้วางแผนนำเข้ารถไมโครบัสจากจีน เข้ามาขายแทนการใช้รถตู้ เสียประโยชน์ ที่ไม่มีการบังคับให้เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส แต่ให้สิทธิผู้ประกอบการเลือก ว่าจะใช้รถตู้หรือไมโครบัสก็ได้ ซึ่งมีการสั่งต่อรถไว้แล้ว มากกว่า 10,000 คัน ซึ่งหากมีการบังคับให้เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ทั้งหมด จะเสียเงินออกนอกประเทศ มากกว่า 20,000 ล้านบาท กระทบภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก
ข้อ 6. สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้ใช้บริการ ด้วยการตรวจสอบผู้ขับขี่รถอย่างเข้มงวด และการตรวจสอบสภาพรถอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการรับผู้โดยสารตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความปลอดภัย และทำให้ถนนเป็นสีขาวได้
ขณะที่เรื่องการใช้แบริเออร์แทนเกาะกลางถนน นั้น ก็เป็นนโยบายที่ไม่ได้ทำแบบปุบปับรับโชค หรือมีการรื้อของเก่าเปลี่ยนเป็นแบริเออร์ทันที ทว่าทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการสร้างเกาะกลางถนน และยังเป็นการนำงบประมาณรัฐมาอุดหนุนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกลับคืนให้ประเทศอย่างมหาศาล
สำหรับนโยบายที่จะให้นำแบริเออร์ทำจากยางพารามาเป็นตัวกั้นระหว่างถนนแทนเกาะกลางถนน จะต้องสามารถรองรับการใช้ความเร็วของรถที่ 120 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อไม่ให้เหมือนกับแบริเออร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะช่วยลดอุบัติเหตุ และไม่ทำให้ถนนเสียหาย
รวมทั้งสามารถนำงบประมาณที่จะใช้ก่อสร้างเกาะกลางถนนไปใช้ขยายถนน 4 เลนเพิ่มเติมให้ชาวบ้านได้ด้วย นอกจากนั้น ยังมีแนวทางนำยางพารามาทำแบริเออร์ ใช้ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความเป็นไปได้มากขึ้น ล่าสุด แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน
สำหรับไอเดียเรื่องการนำยางพารามาทำเป็นแบริเออร์นั้น ได้รับการชื่นชมจากนาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ อดีตที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค อดีตรองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “แบบนี้สิ แก้ปัญหาแบบบูรณาการ”
ทั้งนี้ การคิด และทำในสิ่งที่ “ใหม่” และ “เหนือจินตนาการ” ของหลายคนนั้น เป็นการทำงานที่สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันที่ทุกฝ่ายต้องกล้าคิดต่าง
นายศักดิ์สยามก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ผ่านมา
ไม่เคยมีใครเสนอให้ใช้แบริเออร์ยางแทนเกาะกลางถนน
ไม่เคยมีใครคิดเรื่องการปรับแก้เรื่องความเร็วที่ไม่สอดคล้องกับการขับขี่จริง
กระทั่งนายศักดิ์สยามเข้ามา
“ถ้าเริ่มต้นก็บอกตนเองแล้วว่า ทำไม่ได้ คุณก็ไม่มีวันทำได้
แต่ถ้าเราเชื่อว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้น จะสร้าง “ปาฏิหารย์” ในชีวิตของคนไทย
เราจะคิดหาทางไปสู่ปาฏิหารย์นั้นได้เสมอ”
เป็นคำที่นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยพูดเอาไว้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562
และน่าจะสะท้อนการทำงานสไตล์ของรัฐมนตรีที่ชื่อ “ศักดิ์สยาม” ได้เป็นอย่างดี
“พูดน้อย ทำงานหนัก”
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
Ringsideการเมือง