หน้าแรก news ด่วน ! ผู้ตรวจการฯ มีมติส่งคำร้องเรื่อง ครม.ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ให้ศาล รธน.พิจารณา

ด่วน ! ผู้ตรวจการฯ มีมติส่งคำร้องเรื่อง ครม.ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ให้ศาล รธน.พิจารณา

0
ด่วน ! ผู้ตรวจการฯ มีมติส่งคำร้องเรื่อง ครม.ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ให้ศาล รธน.พิจารณา
Sharing

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. “มติชน” รายงานว่าที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวมติที่ประชุม ปมการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ของนายกรัฐมนตรี และกรณีการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา

โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งคำร้องเรื่อง ครม.ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังพบส่อขัด ม.161

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เพื่อให้วินิจฉัยว่า การที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161  เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงมาว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติสำเร็จโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย แต่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้…”  เมื่อนายกฯกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงมีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์ ในฐานะผู้ร้องเรียน เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนหรือโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และเป็นไปตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ส่วนรัฐบาลจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา

นายรักษเกชากล่าวต่อว่า ในส่วนของคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ร้องในประเด็นเดียวกันว่า หากการที่นายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองนั้น เมื่อผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีการถวายสัตย์ไม่ครบเป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่ได้เป็นประเด็นว่าข้อความหรือถ้อยคำในการกล่าวถวายสัตย์มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นการกระทำก็เห็นว่าไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมติให้ยุติเรื่องในส่วนของ 2 คำร้องนี้

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขอให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ ห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่ การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งถือเป็นบทยกเว้นมาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แม้ไม่ได้บัญญัติยกเว้นมาตรา 159 วรรคสอง ไว้ด้วยก็ตาม แต่มาตรา 159 วรรคสอง เป็นเพียงกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

จากคำชี้แจงของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้จัดให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ส.เสนอชื่อจำนวน 2 ท่าน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และมี ส.ส.รับรองโดยเปิดเผยไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยไม่มี ส.ส.คนใดเสนอรายชื่อเพิ่มเติม ประธานรัฐสภาจึงดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายและให้ความเห็นชอบต่อไป จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 159 วรรคสอง การกระทำของประธานรัฐสภาจึงไม่เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว  ไม่ได้มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงให้ยุติเรื่อง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่