นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ” ภายหลังเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม ในการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ให้แก่ผู้บริหารโรงพยาบาล 13 แห่ง ที่จะให้จ่ายยา น้ำมันเดชาและตำรับศุขไสยาศน์ ในวันที่ 2 ก.ย.2562 ว่า
ได้เชิญ ผอ.และผู้บริหารโรงพยาบาลที่ให้บริการการแพทย์แผนไทย ทั้ง 13 แห่ง เพื่อจัดทำคู่มือการเตรียมพร้อมการให้บริการยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม 16 ตำรับ และน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือน้ำมันเดชา วิธีการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อใช้ยา รวมถึงการจัดทำแนวทางการรักษาและความพร้อมสถานพยาบาลในการรักษา
ทั้งนี้ หลักการสำคัญ คือ 1.การใช้ยากัญชาของผู้ป่วยจะต้องปลอดภัย ผู้ให้บริการทางการแพทย์จะต้องรู้ถึงข้อบ่งชี้ ข้อบ่งใช้ และข้อห้าม มีความรู้และความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และ 2.การติดตามประสิทธิภาพการรักษาในด้านแพทย์แผนไทย เช่น ผลข้างเคียง ผลดีในการรักษาโรคต่างๆ โดยตำรับศุขไสยาศน์จะติดตามผลการใช้ควบคู่การวิจัย AUR (Actual Use Research) เพื่อนำข้อมูลมาเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป ส่วนน้ำมันเดชา จะต้องได้รับการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบในเชิงสังเกตการณ์ (Observational) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลิต โดยนายเดชาเห็นชอบวิธีการผลิตของกรมฯ ตามสูตรตำรับที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างสำรวจกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในการวิจัย และกลุ่มผู้ป่วยห้ามใช้
“คาดว่ากลางสัปดาห์นี้ กรมฯ จะทยอยจัดส่งยาไปยัง 13 โรงพยาบาล เพื่อให้เตรียมความพร้อมในการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ในวันที่ 2 ก.ย. ซึ่งความพร้อมในการให้บริการ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล เช่น การเตรียมพร้อมแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ควบคู่กับแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะน้ำมันเดชาที่ต้องทำควบคู่ไปกับการวิจัย ตลอดจนติดตามเก็บข้อมูลผู้ป่วยทั้งผลข้างเคียง ผลดี โดยกรมฯ ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเปิดตามกำหนดวันดังกล่าว และหลังจ่ายตำรับศุขไสยาศน์แล้ว ปริมาณการผลิตในอีก 5 ตำรับ จะต้องดูปริมาณของกลางกัญชาแห้งที่ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพิ่มเติม”นพ.มรุตกล่าว
นพ.มรุต กล่าวว่า การใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยมีความแตกต่างกับแผนปัจจุบัน โดยผู้ป่วยทางแพทย์แผนไทยจะเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างศุขไสยาศน์ ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย ทานอาหารไม่ได้ และนอนไม่หลับ ยาจึงใช้กับผู้ป่วยได้เป็นวงกว้าง ส่วนน้ำมันเดชา มีข้อบ่งชี้พอสมควร ต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งยาสารสกัดกัญชาจะใช้ได้กับกลุ่มผู้ป่วย 4 โรคที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และมีจำนวนผู้ป่วยแต่ละกลุ่มโรคจำกัด
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาตำรับไทยต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเงื่อนไขแรกที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษากับคลินิกกัญชาแพทย์แผนไทย จะต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ติดตามผลการรักษาได้ และเพื่อพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัย และผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น รวมถึงเพื่อนำข้อมูลจัดทำวิจัยเฉพาะโรค