หน้าแรก news ตอบคำถาม ? ทำไมนโยบายกัญชาทางการแพทย์จึงคืบหน้าโดดเด่น

ตอบคำถาม ? ทำไมนโยบายกัญชาทางการแพทย์จึงคืบหน้าโดดเด่น

0
ตอบคำถาม ? ทำไมนโยบายกัญชาทางการแพทย์จึงคืบหน้าโดดเด่น
Sharing

ทั้งโพลล์หลายสำนัก และนักวิชาการหลายท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์ของพรรคภูมิใจไทยมีความคืบหน้ามากที่สุด เรียกรอยยิ้มจาก “หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ที่เวลาออกงานไหน มีแต่เสียงหัวเราะร่วนแห่งความพึงพอใจ ส่วนสำคัญก็เพราะความคืบหน้าของนโยบายกัญชานี่เอง

หัสเดิม นโยบายกัญชาข้างต้นถูกโจมตีอย่างหนักจากภาคประชาสังคม ขนาดที่วงในเล่าว่าแกนนำรัฐบาลเอง ก็ไม่ปลื้มกับนโยบาย เพราะดูจะฝืนกระแสมากไปหน่อย จนทางพรรคภูมิใจไทย ต้องอธิบายขั้นตอนการทำนโยบาย โดยมุ่งเน้นเพื่อรักษาผู้ป่วยเป็นลำดับแรก ก่อนจะพัฒนาสู่การใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเชิงข้อมูลจากหมอแผนปัจจุบันจำนวนหนึ่ง และหมอพื้นบ้าน รวมไปถึงภาคประชาชน ในการผลักดันนโยบายนี้

เบื้องหลังการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพราะเป็นก้าวแรกในการนำกัญชามาใช้ทางเศรษฐกิจ และด้านนันทนาการ ซึ่งการใช้กัญชาทางการแพทย์จะเป็นการสร้างความรับรู้ใหม่ให้กับสังคม ที่เคยมองกัญชาเป็น “ผู้ร้าย” หากภารกิจการนำกัญชามาใช้รักษาคนลุล่วง ภาพลักษณ์ของ “กัญชา” จะกลายเป็น “พระเอก” ทันที

แต่ภารกิจนี้ ไม่ใช่ของง่าย เพราะอย่าลืมว่า “กัญชา” เป็นเรื่องของ “หมอพื้นบ้าน” มาก่อน จึงไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากแพทย์ “แผนปัจจุบัน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องสงสัย เพราะ “กัญชา” ถูกมองเป็นผู้ร้ายมานับครึ่งศตวรรษ

การฝ่ากระแสต้านดังกล่าวมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการออกแอ็กชั่นเต็มตัวของ “ผู้บริหาร” ในกระทรวงสาธารณสุข ที่เดินหน้าไปพร้อมกับ “หมอหนู” จนทำงานร่วมกัน “สมูท” จะเห็นว่าทุกครั้งที่ออกงาน “หมอหนู” และท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ต้องร่วมกันแจงสื่อเรื่องกัญชาทุกครั้ง โดยได้รับการช่วยเหลือด้านข้อมูลเป็นอย่างดีจากผู้บริหารในกระทรวงท่านอื่นๆ

นี่คือภาพความเป็นเอกภาพ ซึ่งเกิดขึ้นในกระทรวง “คุณหมอ” ที่กลายเป็นพลังส่งตรงไปยังวงการแพทย์ทั้งระบบ ส่วนหนึ่งที่ทำให้กระทรวง สธ.ยอมรับ “นายอนุทิน” ด้วยเพราะตัวนายอนุทินเอง ไม่เคยแสดงตัวว่าเป็น “เจ้ากระทรวง” ที่มุ่งแต่จัดแจง เปลี่ยนแปลง ไม่สนใครหน้าไหน กลับกันยังอ่อนน้อมถ่อมตน และฟังเสียงของทุกฝ่าย ค่อยๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งมีแนวร่วมในที่สุด

นอกจากนั้น วิธีการทำนโยบายของ “นายอนุทิน” ผ่านระบบคิดอย่างเป็นขั้นตอน นโยบายกัญชาทางการแพทย์ แม้จะให้ความสำคัญกับการเดินหน้าของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงคุณหมอ กระทั่งองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตสารสกัดจากกัญชา ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน “หมอหนู” ก็มิได้ละเลย “หมอพื้นบ้าน” กลับกัน ยังดึงมาเป็นมิตร ผ่านการปลดล็อกกฎหมาย คืนตำแหน่งหมอพื้นบ้าน ซึ่งรวมถึง “นายเดชา ศิริภัทร” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมกับรับรองสูตรยาของนายเดชา เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย นี่คือแนวร่วมภาคประชาชนคนสำคัญ และในทางการแพทย์ สูตรยาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นทางเลือกแก่ประชาชน

“หมอหนู” ตั้งเป้าให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตกัญชาให้ได้ 1 ล้านขวดในต้นปี 2563 เพื่อรองรับความต้องการจากผู้ป่วยทั่วประเทศ และลดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใต้ดิน ที่ผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย ไม่มีการการันตีความปลอดภัย แน่นอนว่าเป้าหมายดังกล่าว กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และถึงจะมีแรงต้านอยู่บ้าง แต่แรงหนุนกลับมากกว่า สะท้อนผ่านการแต่งเพลงให้กำลังใจ โดย “แอ๊ด คาราว” นายยืนยง โอภากุล ศิลปินชื่อดัง ซึ่งเนื้อหาเพลงท่อนหนึ่งระบุว่า

“สายเหนียวต้องหนู กันภัย

สายอนามัย ต้องหนูกัญชา”

ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม ทยอยแจกจ่ายสารสกัดจากกัญชาไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นการนำร่องใช้รักษาจริง พร้อมกับการผลิตเพิ่มเติมโดยหน่วยงานภาครัฐ สำหรับโรคที่ใช้กัญชารักษา ได้แก่ มะเร็งระยะสุดท้าย ลมชัก พาร์กินสันที่ดื้อต่อการรักษา ปวดตามปลายประสาท เป็นต้น ระหว่างการรักษาจะมีการบันทึกข้อมูล เพื่อพัฒนาสูตรยา และวิธีใช้ต่อไป

ความคืบหน้าของนโยบาย ล่าสุด นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ 26 แห่ง เป็นแผนปัจจุบัน 13 แห่ง โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สามารถผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ได้ 1.5 แสนขวดภายในเดือนมกราคม 2563 และสามารถผลิตได้มากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วย

ส่วนคลินิกกัญชาทางแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลเครือข่ายแพทย์แผนไทยอีก 13 แห่ง เริ่มให้บริการในวันที่ 2 กันยายน 2562 เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงสารสกัดน้ำมันกัญชา และยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้จัดทำแนวทางบริการและส่งต่อผู้ป่วยสารสกัดจากกัญชาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โดยผู้ป่วยลงทะเบียน หรือ walk in จะได้รับคำปรึกษาและคัดกรองเบื้องต้นจากพยาบาล รับการตรวจวินิจฉัยโรค ประเมินความจำเป็นการใช้ยา และหากเข้าเกณฑ์จะให้ผู้ป่วยเซ็นเอกสารยินยอมการเข้าร่วมโครงการ โดยเภสัชกรจะตรวจสอบ จ่ายยาตามใบสั่งยา และให้คำแนะนำผู้ป่วย จากนั้นจะติดตามการรักษาครั้งแรกทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ภายใน 72 ชั่วโมง และให้คำปรึกษาออนไลน์ทั้งกรณีมารับบริการ และฉุกเฉิน นอกจากนี้ ได้ให้จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังรักษาภาวะฉุกเฉิน ส่งต่อ และระบบการส่งต่อไปยังหน่วยบำบัดรักษาภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดอบรมพยาบาลประจำคลินิกกัญชาทางการแพทย์ วันที่ 2 – 3 กันยายน และอบรมแพทย์ เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนครบภายในเดือนตุลาคม 2562 และจะพัฒนาหลักสูตร E training สำหรับหน่วยงานที่สนใจต่อไป

หากย้อนกลับไปก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม ซึ่งหมอหนูถวายสัตย์ฯ ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ใครจะไปคิดว่าภายในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ จะมีสารสกัดจากกัญชาระดับ “เมดิคัลเกรด” ให้บริการในโรงพยาบาล เช่นที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

ดังนั้น อย่าแปลกใจ หากวันนี้ ใครๆ ก็พูดถึงนโยบาย “กัญชาทางการแพทย์” ที่มี “หมอหนู” ขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน อยู่ทั้ง “เบื้องหน้า” และ “เบื้องหลัง”

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่