ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เปิดเผยว่า ท่านนายกฯ ได้สั่งการให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลความยากจนรายจังหวัดเพื่อนำมาพิจารณาออกแบบนโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ตรงจุดแบบ “ถูกฝา ถูกตัว”
การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนทั้ง 4 มิติ คือ การเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะอาชีพ การหางานให้ทำ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้ “ถูกฝา ถูกตัว” และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้มีรายได้น้อยเบื้องต้น สามารถจัดออกเป็น 4 กลุ่มเป้าหมาย เพื่อออกแบบนโยบายให้สอดรับกันได้แก่
Q1 กลุ่มจังหวัดเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีความพร้อมสูง (สีเขียว) 29 จังหวัด เน้นการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ
Q2 กลุ่มจังหวัดเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง (สีฟ้า) 8 จังหวัด เน้นหารพัฒนาอาชีพ และการหางานให้ทำ
Q3 กลุ่มจังหวัดที่ขาดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ หรือขาดความพร้อม 7 จังหวัด(สีน้ำเงิน) ต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต
Q4 12 จังหวัดที่ติดกับดักความยากจน (สีแดง) ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนทั้ง 4 มิติ อีก 20 จังหวัดที่เศรษฐกิจอ่อนแอ (สีส้มและสีเหลือง) ต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ
นอกจากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ท่านนายกฯ ยังได้สั่งการให้นำข้อมูลดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคนรายจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย 32 ตัวชี้วัด อาทิเช่น จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากร ร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้สิน สัดส่วนประชากรยากจน ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ เป็นต้น มาประกอบการวางแผนนโยบายแก้จน เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาคนระหว่างจังหวัดไปพร้อมกันด้วย