เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระหารือ โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าววา เรื่องที่ตนขอหารือนั้น เป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ระดับชาติและนโยบายของรัฐบาล โดยอาจจะมีผลกระทบต่อนโยบายสาธารณสุข การศึกษา และทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณสุข ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในประเทศไทย และจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ด้วยเทคโนโลยี telemedicine ซึ่งจะต้องอาศัยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโครงการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เรื่องแรกคือการติดตามโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ชายขอบในโซน C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งบริษัท ทีโอที (จำกัด) มหาชน (TOT) อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวง DE เป็นผู้ดำเนินการ จึงอยากเรียนไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริษัท TOT ที่ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้แจ้งผลความคืบหน้าให้สังคมได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 74,987 หมู่บ้าน ซึ่งมีบริการอินเทอร์เน็ตที่เอกชนเข้าไปลงทุนแล้ว 41% ของจำนวนพื้นที่ทั่วประเทศ คิดเป็นจำนวน 30,635 หมู่บ้าน ส่วนอีก 59% เป็นส่วนของพื้นที่ห่างไกลและชนบท มีจำนวน 44,352 หมู่บ้าน รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโครงข่าย โดยแบ่งเป็นเขตพื้นที่ห่างไกล หรือ โซน C จำนวน 40,432 หมู่บ้าน ที่แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือในส่วนของโครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล และเขตพื้นที่ห่างไกลมาก หรือ โซน C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่มีการดำเนินโครงการ “จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ”
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือการประมูลคลื่นความถี่ 5G ซึ่งการวางโครงข่ายนั้นมีผลกระทบต่อระบบ Telemedicine จึงอยากฝากเรื่องไปถึงกระทรวง ดีอี และสำนักงานกสทช.ในยการพิจารณาหาแนวทางการประมูลคลื่น 5G อย่างเร่งด่วน และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับประเทศไทย และได้แจ้งผลการดำเนินการให้ทางรัฐสภาได้รับทราบด้วย เพราะหากล่าช้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนสู่นโยบาย Thailand 4.0 และอาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตในทุกมิติ