หน้าแรก news “วีรศักดิ์” สั่งดูแลธุรกิจผู้สูงอายุ หวั่นขาดแคลน

“วีรศักดิ์” สั่งดูแลธุรกิจผู้สูงอายุ หวั่นขาดแคลน

0
“วีรศักดิ์” สั่งดูแลธุรกิจผู้สูงอายุ หวั่นขาดแคลน
Sharing

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ จำนวนทั้งสิ้น 800 ราย แบ่งเป็น นิติบุคคล จำนวน 341 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.63 ทุนจดทะเบียนรวม 2,136.39 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา จำนวน 459 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.37 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ราว 13 ล้านคน และในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุเกินกว่า 18 ล้านคน หรือร้อยละ 27 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา และประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นต้น”

“ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศกับจำนวนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจะเห็นได้ว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุยังคงขาดแคลนและโตไม่ทันตามความต้องการของตลาด จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งพัฒนาธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล พร้อมหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น นอกเหนือจากรัฐสวัสดิการที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันบุตรหลานมักจะเลือกใช้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศในการดูแลบุพการีหรือผู้สูงวัย ฉะนั้น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”

รมช.พณ.กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ยังนับเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ที่ชาวต่างชาติมักจะเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีความพร้อมและมีความได้เปรียบหลายด้าน เช่น คนไทยมีหัวใจรักบริการ ค่าใช้จ่ายมีความสมเหตุผล มีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่หลากหลาย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ครบครัน ซึ่งจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ”

“การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระดับภูมิภาคได้ จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเฉพาะ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยการพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักกิจกรรมบำบัด รวมทั้ง ต้องมีสถานบริการและการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานการบริหารจัดการฯ โดยเน้นการส่งเสริมพัฒนาให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วย 1) การสร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ 2) พัฒนาธุรกิจบริการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตามแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) 3) สร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่มีศักยภาพกับตลาดผ่านแพลทฟอร์ม หรือ ช่องทางการตลาดของกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวข้อง”

“ทั้งนี้ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เกี่ยวเนื่องและก่อเกิดรายได้ต่อเนื่องกับธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น บริการออกแบบที่พักอาศัย การท่องเที่ยว บริการความงาม โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต โรงเรียนสอนบุคลากรดูแลผู้สูงวัย การค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์ และการบริการหลังความตาย ฯลฯ เป็นต้น ดั้งนั้น การเติบโตของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วยเช่นกัน”

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจด้านดูแลผู้สูงอายุ หากผู้ประกอบการไทยต้องการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เหนือกว่า ควรมีการติดตาม ศึกษา วิเคราะห์เปรียบเทียบกับคู่แข่งอยู่เสมอ มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่าง นำนวัตกรรมมาช่วยบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ ตลอดจนเป็นการยกระดับให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระดับภูมิภาค” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ คือ 1) บ้านพักคนชรา (residential Home)  2) สถานบริการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต (Assisted Living) 3) สถานบริบาล (Nursing Home) 4) สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล (Long-term Care Hospital) และ 5) สถานดูแลระยะสุดท้าย (Hospice Care)


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่