หน้าแรก news ภูมิใจไทย เดินหน้า “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” ประชุมรับฟังความคิดเห็นภาค ปชช.

ภูมิใจไทย เดินหน้า “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” ประชุมรับฟังความคิดเห็นภาค ปชช.

0
ภูมิใจไทย เดินหน้า “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” ประชุมรับฟังความคิดเห็นภาค ปชช.
Sharing

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุม พรรคภูมิใจไทย จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน กฎหมาย “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย ประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย และ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คุณกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ผู้แทนเด็กที่กู้ กยศ. คุณปทิตตา วิปัสสา ผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ำประกัน คุณณัญฐิยา วงษ์เหลา ผู้แทนผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบโดนหักเงินเดือน

ดร.กมล กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ว่า พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายสำคัญทางด้านการศึกษา ที่ผ่านมาพรรคได้เสนอการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ที่จะทำให้เด็กเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาถึงระดับปริญญา เป็นระบบใหม่ที่ทำให้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ค่าใช้จ่ายน้อย และเรื่องที่อยู่ระหว่างการวิพากษ์ คือ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พรรคเคยรับฟังความเห็นมาก่อนหน้านี้ ได้นำเสนอและประสานกับทางกยศ.ไปแล้ว โดย กยศ. รับทราบและแจ้งว่าแก้ปัญหาไปแล้วในหลายประเด็น

ดร.กมล กล่าวอีกว่า ตามหลักคิดของพรรค คือ ถ้าเราไม่สามารถให้ทุนเปล่าได้ เหลือเพียงการให้ยืมได้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชน พบว่า ลูกหนี้ต้องการให้ลดดอกเบี้ย ลดหนี้ลงโดยปลดระยะเวลาการชำระให้ยาวนานขึ้น หรือกรณีมีเบี้ยปรับให้มีน้อยที่สุด หรือ ปลอดเบี้ยปรับ รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะผู้กู้สามารถค้ำประกันตนเองได้ ทั้งหมดนี้ ขอให้นึกถึงคำว่า ให้ทุน คือ การให้ทุนเรียนดี ยากจน ให้ยืม คือ การให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งมีในบางสถาบันการศึกษาที่ใช้หลักการการทำงานคืนแทน ยกเว้นผิดสัญญาจะมีค่าปรับ และ ให้กู้ หรือ ให้กู้ยืม ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ย เหมือนการทำธุรกิจ ในท้ายที่สุดพรรคจะนำเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ… ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้ จะนำความคิดเห็นในที่ประชุมแห่งนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

ดร.พะโยม กล่าวว่า เราต้องการแก้ปัญหาหนี้กยศ. และ การส่งเสริมการศึกษาเด็กไทย ให้มีการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กองทุนกยศ. เป็นกองทุนที่สร้างโอกาสให้เด็กไทย เมื่อกองทุนนี้ดำเนินการไประยะหนึ่ง ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกองทุนกยศ. โดยสภาพปัจจุบันผู้ร่วมกู้กยศ.ประมาณ 5.6 ล้านคน เริ่มชำระหนี้แล้วประมาณ 3 ล้านคน ถูกดำเนินคดีไปไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมา กยศ.จะให้เวลาสำหรับการพักชำระหนี้ ต้องเข้าใจว่า ผู้ที่กู้ยืมกยศ.ก็เพราะสาเหตุความยากจน และสภาพแวดล้อมของผู้กู้เหล่านี้ ไม่ได้มีหนี้เฉพาะหนี้ กยศ.เท่านั้น

นอกจากนี้หลังจบการศึกษาแล้วก็อาจจะไม่ได้งานทำ ตกงาน หรือรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น การให้ทุน ให้ยืม ให้กู้ยืม ตามที่เรามองว่า น่าจะนำไปแก้ปัญหาทุกข์ของเด็กไทยได้ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกบังคับคดี อยู่ระหว่างความทุกข์ เราควรหาแนวทางการแก้ปัญหาส่วนนี้โดยเร็ว

“พรรคมีนโยบายในการแก้ปัญหา โดยต้องการปลดผู้ค้ำประกัน ปรับโครงสร้างหนี้ การทำงานชดเชยให้กับภาครัฐเพื่อปลดหนี้ และ การขยายเวลาผ่อนผันเงินต้น”

ดร.สฤษดิ์ กล่าวว่า จุดประสงค์เราเพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนของชาติ มีโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ที่ผ่านมากองทุนกยศ.ที่ปล่อยกู้ไป 5.6 ล้านราย แต่เกิดปัญหาเรื่องของดอกเบี้ย ผู้ค้ำประกัน ค่าปรับ เป็นต้น การนำเสนอเรื่องการปลดผู้ค้ำประกัน ก็เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินกู้อย่างเสมอภาค ให้มีการศึกษาที่ดี มีแรงจูงใจ ลดภาระการกู้ยืม ส่วนการนำเสนอพ.ร.บ.นี้ ก็ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและชัดเจน

ดร.สฤษดิ์ พรรคได้นำเสนอตามมาตรา 21 และมาตรา 11 (2) ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 44 ที่ให้กู้ยืมเงินการศึกษา หน้าที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาคืนให้กองทุน และ 2 ผู้กู้ยืม เลือกทำงานแทนการชำระหนี้ เพื่อการศึกษาที่ได้รับตามสัญญากู้บืมเงินคืนกองทุน ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการกำหนด, ให้เงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาปลอดดอกเบี้ย นับแต่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และมีเงินค้าง ก็ให้ชำระคืนเงินต้น ตามคณะกรรมการกำหนด, กรณีจำเป็น ให้ผ่อนผันชำระเงินคืน แตกต่างตามจำนวน ระยะเวลา วิธีการกำหนดตามวรรค 1 หรือ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการกำหนด มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ตามมาตรา 44 (1) ในกรณีผู้กู้ได้รับเกียรตินิยม ให้แปลงเงินเป็นทุนเพื่อการศึกษาแทน ไม่มีหน้าที่ชำระเงินกู้คืน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตามมาตรา 7 และให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้แทนในมาตรา 44 ดังนี้

ในกรณีผู้กู้ยืมเงิน จบสาขาที่กระทรวงศึกษากำหนด แปลงเงินกู้เป็นทุนเพื่อการศึกษาแทน ส่วนมาตรา 8 ให้ผู้กู้ที่ศาลมีคำพิพากษาก่อนพ.ร.บ.นี้บังคับใช้ เมื่อได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก็หลุดพ้น ข้อมูลเครดิตบูโร

คุณชัยณรงค์ กล่าวว่ เห็นด้วยการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กองทุนเราเป็นกองทุนให้อนาคต ภาพรวมของกยศ. จำนวน 7.9 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นหนี้เสียที่ลูกหนี้ติดอยู่ มีนักเรียนได้โอกาสในการกู้กยศ. 5.6 ล้านคน กู้ไปแล้ว 6 แสนล้านบาท ผิดนัดชำระหนี้ 2.3 แสนคน คิดเป็น 65% ในเส้นทางการชำระหนี้ ถ้าไม่มีการชำระหนี้ก็ต้องมีการบังคับคดี และให้ผ่อนชำระหนี้ ตอนนี้มีนักศึกษากยศ.เป็นแพทย์ จำนวน 20,000 คน มีศิษย์เก่าที่เคยกู้เงิน ตอนนี้ก็มีธุรกิจหลายแห่งรวยเป็นร้อยล้าน เราใช้งบแผ่นดินทุกปี 2 ปีหลัง เราไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ถ้าเรามีเงินจากการชำระหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน เมื่อก่อนมีเงินชำระหนี้คืนกลับเข้ามากยศ. 5 พันกว่าล้านบาท ปัจจุบันมีเงินที่ชำระหนี้กลับเข้ามากว่า 3 หมื่นล้านบาท

คุณชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า ดอกเบี้ยกยศ. อยู่ที่ 1% เมื่อก่อนดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 18% ตอนนี้กยศ.ปรับเหลือ 7.5% เท่ากับกฎหมายแพ่ง การชำระหนี้ของกยศ. นักเรียนแต่ละคนเฉลี่ยกู้เงินจำนวน 1 แสนบาท ให้เวลาผ่อนชำระ 15 ปี ยอดเงินที่ต้องชำระหนี้ เดือนละ 1,500 บาท ปีที่ 2 เดือนละประมาณ 3,000 บาท การผ่อนชำระหนี้กองทุน กู้ 1 แสนบาท เฉลี่ยเก็บเงินวันละ 5 บาท ปีต่อไป 5-10 บาท ทำเช่นนี้ 15 ปี ก็ชำระหนี้ได้ 1 แสน และเหลือเงินออม 3,000 กว่าบาท และปัจจุบันสามารถชำระผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องไปธนาคาร

“เราพบว่าปัญหามาจาก 3 สาเหตุ คือ ยากจน ขาดแคลน กลุ่มที่ 2 มีหนี้อื่น เลือกชำระหนี้อื่นก่อนและเลือกชำระหนี้กยศ.สุดท้าย และ กลุ่ม 3 มีเงิน แต่ไม่จ่าย กยศ.ติดตามหนี้อย่างอะลุ่มอล่วย ฟ้องคดีด้วยความจำเป็นมากกว่า 5 แสนคดี กยศ.เดินสายไปทั่วประเทศ เพื่อไปรับฟังความเห็นของลูกหนี้ สิ่งที่ทำให้กับคนที่ถูกดำเนินคดี ถ้าใครถูกฟ้องไปที่ศาล เราลดเบี้ยปรับลง และ ขยายระยะเวลาชำระหนี้อีก และ ถ้าใครต้องการปิดบัญชีจะลดเบี้ยปรับ 80% ถ้าต้องการปิด แต่จ่ายเป็นก้อนไม่ได้ ก็ลดเบี้ยปรับให้ 75% คนยากจน เราลดค่าธรรมเนียมผิดนัด และ ปรับเพิ่มค่าครองชีพให้เดือนละ 600 บาท ตกเดือนละ 4.3 พันล้านบาท เราหักเงินเดือนด้วยความละมุนละม่อม แต่ถ้าไม่ไหว เราพูดคุยกันได้”

“เรามีโทรศัพท์เข้ามาเดือนละ 5 หมื่นสาย โทรออกอีก 2 แสนสาย ดังนั้นขอให้ติดต่อทางไลน์ ไลน์แต่ละห้องมีจำนวนคนแสนกว่าคน และตอบครบภายใน 3 ชั่วโมง เรากล้าให้เบอร์โทรศัพท์มือถือกับนักเรียน 3 ล้านคน โทร.มาคุย และ แอดไลน์มาคุยได้”

 

คุณกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.ทุกมาตรา ข้อสงสัยคือ ทำไมถึงเกิดการค้างชำระ ตอนกู้คุณสมบัติ คือ ต้องยากจน บางคนอาจจบการศึกษา หรือจบแล้ว งานไม่ตรงกับสาย รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ไปชำระ และมีภาระทางครอบครัว ก่อนหน้านั้นต้องแบกภาระส่งเสียรุ่นน้องให้เรียนต่อ ไม่สามารถชำระได้ เมื่อเกิดการผิดนัดครั้งแรก ดอกเบี้ยปรับตามมา เมื่อปีแรก ไม่ได้จ่าย พอมาจ่ายก้อนต่อมาก็ต้องจ่ายก้อนแรกก่อน แล้วก็เกิดการค้างค่าปรับอีก ทำให้ยอดหนี้สูงขึ้นไป  จึงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาทุกปี ทุกคนอยากชำระ เจอเบี้ยปรับทบเงินต้นและเงินค้างปี เป็นของชุดที่ถูกดำเนินคดีและอยู่ระหว่างบังคับคดี จากนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ได้ชำระ ก็ตกสู่ผู้ค้ำประกัน

คุณกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การบังคับคดีของลูกหนี้แต่ละคน นอกจากมีเงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ (สูงมาก) ร่างพ.ร.บ.นี้ ลูกหนี้กลุ่มหลังจะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ หลักการชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างนี้ตามร่างมาตรา 8 ให้ปลอดเครดิตบูโร ส่วนการแก้ปัญหามาตรา 44 จะเป็นการช่วยเหลือที่กำลังจะถูกฟ้อง แต่สำหรับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องแล้วจะไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย

 

คุณปทิตตา กล่าวว่า “ดิฉันเดือดร้อนมาก ผู้กู้มีงานทำ แต่หน่วยงานกยศ. บังคับคดียึดทรัพย์คนค้ำ ยอดเงินทั้งหมดที่ต้องส่ง 2.6 แสนกว่าบาท เงินต้น 1.1 แสนบาท ดอกเบี้ย 1.8 แสนบาท ต้องชำระ 3 ปี เดือนละ 7,365 บาท ขณะนี้ตกงานอยู่ อยากให้กองทุนช่วยเหลือ เพราะเราไม่มีเงิน บ้านก็จะถูกยึด เคยคิดฆ่าตัวตาย ต้องดูแลแม่ที่วัยชรา”

คุณณัญฐิยา กล่าวว่า “หลังเรียนจบ ได้หางาน แต่ไม่ตรงกับสายที่เรียนมา เป็นผลต่อรายได้ที่เข้ามา เมื่อถูกหักเงินก็กระทบ ตัวเงินไม่ได้เยอะ แต่รายได้เราน้อย เราก็ภาระก็มี เราเป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องมีภาระที่บ้าน เงินต้นไม่เยอะ แต่ดอกเบี้ยสูงพอสมควร และเพิ่มเข้ามาจากที่กู้ เมื่อรายได้น้อย ถูกหักเงินจากเงินเดือน เป็นผลกระทบโดยตรง เด็กต่างจังหวัดจะพบปัญหานี้ อยากให้ลดดอกเบี้ย หรือไม่มีดอกเบี้ยได้ไหม เพราะคนทำงานก็อยากส่งต่อโอกาสให้น้องเช่นกัน”

ด้านคุณกิตติศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ดอกเบี้ยสูง เบี้ยปรับก็เยอะมาก ของคุณปทิตตา เงินต้น 1.1 แสน ดอกเบี้ย 1.8 แสนบาท ถ้าแบ่งชำระเป็นงวด ดอกเบี้ยไม่สูง ก็จะสามารถชำระได้ แม้มีมาตรกรให้ 7.5% ต่อปี ถ้าปรับลูกหนี้ชำระได้ก็ควรย้อนไปดูคำพิพากษาที่เริ่มจากเงินต้นบวกดอกเบี้ย เมื่อลูกหนี้ไม่ไปศาลก็ถูกพิพากษาอย่างเดียว เงินก็จะถูกรวมทั้งหมด ลูกหนี้ทุกคนอยากชำระ ที่ติดขัดคือ เบี้ยปรับ เงินต้นไม่มาก ดอกเบี้ยไม่มาก แต่เบี้ยปรับแซงเงินต้นก็มี บางราย เงินต้น 3 แสน เบี้ยปรับ 4 แสน ดอกเบี้ยน้อย แต่ก็ต้องดิ้นรนหา กู้นอกระบบบ้าง หายืมเงินมาปิดบ้าง นี่คือปัญหาลูกหนี้เจอ

 

ดร.กมล รอดคล้าย กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของพรรคภูมิใจไทย และพวกเราทุกคนต้องการให้เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่มิติที่เป็นประโยชน์และดีที่สุดสำหรับทุกคนในประเทศนี้ มีเรื่องหลายเรื่องที่แต่ละฝ่ายมีประเด็นที่ตนเองทำได้ในเรื่องมากมาย และภาระความรับผิดชอบกำหนดไว้ จึงเป็นประเด็นที่พรรค พยายามเสนอกฎหมายช่วยให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ตนเองได้ดีที่สุด เพื่อผู้กู้ ผู้ค้ำ และผู้เกี่ยวข้องในส่วนลูกหนี้ เพราะไม่มีใครอยากเป็นคนจน ที่ต้องดิ้นรนแสวงหาความรู้ ในหลักการศึกษา บอกว่า การศึกษาเป็นเรื่องเดียวเปลี่ยนช่วงชั้นของสังคม ดังนั้นควรทำให้การเปลี่ยนของเราสะดวกและไม่เป็นภาระ ผู้กู้ ผู้ค้ำทุกคน พยายามทำหน้าที่เปลี่ยนจากคนระดับล่าง ไปกลาง และสูง สร้างประโยชน์ให้ประเทศ แต่ก็เห็นใจกยศ. ภายใต้กฎหมายกำหนดได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์

ดร.กมล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เราเสนอกฎหมาย กยศ.พยายามแก้ไขหลายเรื่อง เช่น การเก็บเงิน การลดดอกเบี้ย ลดค่าปรีบ แต่ก็มีเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ผมขอสรุป ว่า วันนี้ พรรคภูมิใจไทย ได้พยายามเข้าไปช่วยเป็นตัวกลาง จะเสนอกฎหมายต่อไปนี้

1 กำหนดว่าให้กรรมการกองทุนมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการแปลงเงินกู้ เป็นประโยชน์ต่อเด็ก

2 ยกเลิกบทบัญญัติค้ำประกัน ยกเลิกผู้ค้ำ

3 ผู้กู้ให้ทำงานแทนได้ วิธีการทำงานคล้ายผู้ที่ได้ทุนแล้วกลับมาทำงานในหน่วยงานนั้นๆ แทน

4 ให้ปลอดดอกเบี้ย คือ คืนเฉพาะเงินต้นคืนเท่านั้น นับตั้งแต่เริ่มต้นประกาศใช้พ.ร.บ. ส่วนผู้ที่กู้ไปแล้วก็ให้เริ่มนับตั้งแต่ที่ประกาศใช้พ.ร.บ. ส่วนที่ชำระไปแล้วถือว่าให้รัฐ

5 ผู้ที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ไม่มีการเก็บทั้งต้นและดอกเบี้ย เพราะถือว่าเป็นคนมีคุณภาพสูง

6 ผู้ที่เรียนจบสาขาขาดแคลน 10 สาขา คนเหล่านี้เป็นการให้ทุนการศึกษาไป โดยไม่ต้องมาใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย

ดร.กมล ระบุว่า เราต้องแบ่งเกรดผู้กู้กยศ.ออกเป็น กลุ่มเอ เรียนดีเรียนเก่ง ยกให้ไม่คิดเงินต้นและดอกเบี้ย กลุ่มบี กลางก็คิดเฉพาะเงินต้น เกรดซี ลำบาก ถูกฟ้อง บังคับคดี ก็ไปปรับตัวกฎหมาย คิดแค่เงินต้นเหมือนกลุ่มบี และปลดจากเครดิตบูโร

“กรณีเช่นนี้ พรรคจึงเสนอเป็นพ.ร.บ. เป็นกระบวนการคิดของคนทั้งระบบ นำเสนอระบบที่เหมาะสม เข้าสู่รัฐสภา”

 

ดร.พะโยม กล่าวว่า ผู้เดือนร้อนมาก คือ ผู้ถูกบังคับดคี เมื่อเป็นไปตามคำสั่งศาล กลุ่มนี้เป็นภาระ เหมือนกยศ.เองได้ให้แนวทางเรื่องการที่ ผู้ที่กู้ใหม่ หรือ ผู้ยังไม่ได้ชำระหนี้ดีแล้ว แต่เราคิดว่า การลงทุนในการศึกษาของเด็ก อาจะต้องปลอดค่าปรับ ปลอดดอกเบี้ย แต่กฎหมายเดิมปี 60 ตามนั้นก็ขอให้ผ่อนปรนเรื่องให้ทุกคนผ่อนชำระได้สบาย แต่กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เดือดร้อนคือกลุ่มถูกบังคับคดีต้องหาทางออก และ เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ที่จะต้องทำ ขอให้ทุกคนเสอนแนวทาง อะไรที่ต้องการนำเข้าสู่ระบบของกฎหมาย หรือ มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งลงมาแก้หนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่เรามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ก็เข้ามาแก้ปัญหาลูกหนี้ เพื่อประนีประนอม เพื่อทำให้สังคมน่าอยู่และเดินไปได้ เป็นทางออกทั้งการบริหารจัดการ และการแก้ปัญหาเรื่องกฎหมาย

 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ด้วยความเห็น ผมพยายามแก้ปัญหา กยศ.ไม่มีเจตนาบังคับคดี ยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด แต่สิ่งที่ทำเพราะเราเป็นหน่วยงานขอรัฐ ส่วนการบังคับคดีแล้วไม่ขายจะให้ผ่อนผัน ขอรับกรณีของคุณปทิตตาไปดูแล ส่วนเรื่องดอกเบี้ย เบี้ยปรับนั้น เบี้ยปรับจะคิดเฉพาะผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ และจะสะสมก็เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีของการหักเงินเดือน เราหักเงินตามข้อตกลงไว้ เช่น ตกลงเดือนละ 2,000 เราพบว่าบางคนถูกสหกรณ์หักเงินไปก่อน เช่น ข้าราชการบางคนถูกหักจากส่วนอื่นไปก่อน พอมาถึงเรา เราหักไม่ได้ สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมาย กยศ.เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องขอบคุณพรรคที่เข้าใจกยศ. เราทำภายใต้กรอบของกฎหมาย ถ้ากฎหมายแก้ไขให้เราทำอะไรสะดวกขึ้น เราก็ยินดี ช่วยคนระดับล่าง ปัจจุบันข้อมูลเครดิตบูโร เราไม่ได้ส่ง ฉะนั้น น้องๆที่ถูกฟ้อง ไม่ว่าจะกู้หรือค้ำ ก็ไม่อยู่ในข้อมูลเครดิตอยู่แล้ว

 

ดร.สฤษดิ์ กล่าวว่า ในนามพรรคภูมิใจไทย เป็นห่วงเรื่องปากท้องประชาชน สิ่งที่ผจก.กองทุนกยศ.ชี้แจงก็ปฏิบัติตามกรอบ ส่วนผมก็พยายามยื่นหรือสร้างกรอบที่เป็นไปตามกฎหมาย เราร่างพ.ร.บ.แก้กฎหมาย พรรคเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขั้นตอนยื่นส่งต่อรัฐสภาฯ เราต้องรับฟังความเห็นประชาชน เพื่อนำเสนอต่อสภา แก้ญัตติ หรือ ปรับปรุง เป็นเรื่องของกระบวนการ

คุณกิตติศักดิ์ กล่าวถามมาตรการเร่งด่วยช่วยเหลือ กลุ่มถูกฟ้องและรอการขายทอดตลาด รวมถึงการปรับโครงสร้างลูกหนี้ให้ชำระได้ เงินก็กลับเข้ากองทุน ก็เกิดประโยชน์มาก

คุณณัญฐิยา กล่าวว่า ตัวหนี้เราถ้าไม่มีดอกเบี้ย เรายินดีจ่าย เรากู้มาเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น กระตุ้นคน ให้เด็กต่างจังหวัดอยากพัฒนาตนเอง อยากเพิ่มโอกาสการศึกษาให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล “ถ้าเราไม่มีเงินส่ง บ้านก็จะถูกยึด ขอฝากไว้ด้วย”

ดร.กมล ระบุว่า รายได้ของรัฐจำนวนมากที่ดูแลคนจะหายไป แต่ผลที่ได้กลับมา เราคิดเรื่องเด็กพยายามคิดมุมที่เด็กทำงานแล้วมีรายได้ และนำรายได้ไปใช้ตลาดแรงงาน ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ผมประเมินดูข้อมูล เราได้คืนมา 5 แสนล้าน 7-8 ปีที่ผ่านมา เราได้คืนมาเยอะ การจ่ายเงินของรัฐน้อยลง เป็นกลุ่มที่มีรายได้คืนมา ไม่ใช่รัฐจ่ายแล้วหายไปเลย เหตุที่เราบอก ไม่เอาดอกเบี้ย ค่าปรับ เงินค้ำ เพราะเราคิดว่าเอาเงินต้นกลับมาเพื่ออนาคตของเด็กๆ ส่วนกรณีการบังคับคดีและยึดทรัพย์ มีประเด็นหนึ่งที่คิด แต่ไม่ได้นำมาเสนอเป็นกฎหมาย อาจจะนำไปแปรญัตติ คือ เราตั้งบรรษัทมาบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ได้ไหม เพราะภาคธุรกิจเรามีการตั้งบรรษัท ขายทอดตลาดก็ว่าไปแล้วคืนเงินให้ลูกหนี้ ถ้าต้องตั้งบรรษัทก็ต้องนำเสนอเป็นกฎหมาย

“ผมขอเสนอ 1 จัดการอย่างไรให้เบาที่สุด ถ้าขาย ขายอย่างไร  2 ถ้าเสนอกฎหมายนี้เข้าไปเลย ทำได้หรือไม่”

คุณชัยณรงค์ กล่าวว่า ต้นทุนเงินของรัฐ ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ไม่มีแนวคิดต้องการเบี้ยปรับสร้างผลกำไร แต่กฎหมยกำหนดให้มีเบี้ยปรับเพื่อป้องกันไม่ให้คนรู้สึกว่า ไม่ชำระก็ได้ มิฉะนั้น อาจจะทำให้ทุกคนไม่ชำระ เราพยายามแก้ปัญหาทั้งหมด ปัญหาหนึ่งที่ลูกหนี้ถูกดำเนินคดีแล้ว เราแก้ไขยาก เพราะเป็นลูกหนี้ผิดนัดตามคำพิพากษา จะผูกพันคู่ความ และ 2 เรามีเรื่องบังคับคดีภายใน 10 ปี ตามคำพิพากษา ถ้ากยศ.ไม่ทำ จะถูกมองว่าเพิกเฉย ไม่ทำตามกฎหมาย เราจำเป็นต้องยึด ปัญหาคือ ถ้าเราเป็นภาคเอกชน เราทำได้ทุกอย่าง เพราะไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อเป็นรัฐ การแปลงหนี้ใหม่ ของภาคเอกชนแปลงหนี้ใหม่ได้ไม่เกิน 9 ปี แต่ของรัฐ การผ่อนชำระจึงทำได้ยาก เรากำลังจะหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถ ทำอะไรได้บ้าง

“กรณีตั้งบรรรษัท กฎหมายรองรับเราก็ทำได้ ภาคเอกชนโอนสิทธิ์การเรียกร้องหรือขายหนี้ได้ แต่เราจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ”

จากนั้น คุณชัยณรงค์ ได้เปิดวิดีโอ ศิษย์เก่ากยศ. ที่มีบ้านอยู่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ไม่เคยผิดการชำระหนี้เลย ไม่ได้กลับบ้านหลายปี เรียนที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ กลับบ้านแม่ก็ร้องไห้เพราะตื้นตัน ไม่ได้เจอลูกมาหลายปี เด็กกล่าวว่า ผมรู้สึกผิด ห่างไกลแม่ ไม่ได้ดูแลแม่ เพื่ออนาคตต้องอดทน แม้จะไม่มีอะไร ถือเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้เรียนรู้ ถ้าผมสบาย ผมคงไม่รู้จักคำว่า “อดทน ขยัน”

คุณชัยณรงค์ กล่าวว่า เด็กไม่เคยทานเนื้อสัตว์ ไม่รู้จักน้ำปลา ได้เงิน 1 พันบาท ลงมาจากอมก๋อย เจอโบรชัวร์ของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ค่าเดินทาง 600 บาท เหลือเงิน 400 บท ไปสถาบันปัญญาภิวัฒน์ อาจารย์ที่สถาบันคุยกับหอพัก ไม่ต้องจ่ายค่าหอพักให้อยู่ตลอดเทอม ทุกวันนี้เด็กคนนี้ยังทำงานเซเว่น และ ชำระหนี้กยศ.อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย

คุณกิตติศักดิ์ กล่าวเสริมตอนท้ายว่า การศึกษาทำให้ช่องว่างในสังคมลดลง เมื่อเด็กมีการศึกษา ก็ทำให้ประเทศมีการพัฒนา นอกจากนี้ การที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระ ส่วนนี้ขอเสนอว่า มีช่องทางไหม เจ้าหนี้ลดยอดเงินตามคำพิพากษา แม้จะกำหนดยอดเงิน แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะลดเงินไม่ได้ เรื่องการบังคับคดี มีระยะเวลา 10 ปี แล้วลูกหนี้ที่ไม่ชำระ ปีที่ 8-9 ก็ต้องรีบชำระ กรณีที่ดร.กมล บอกควรมีกองทุน ช้อนซื้อหลักทรัพย์ของลูกหนี้เอาไว้ แล้วเอามาขายให้กับลูกหนี้คืน ก็จะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาว

 

ด้านตัวแทนผู้สื่อข่าว นายสรธัญ กล่าวนำเสนอและสอบถาม ซึ่งตนเป็นผู้หนึ่งที่เป็นหนี้กยศ. สงสัยการชำระหนี้กยศ.วางกรอบแต่ละปี ไม่ค่อยแมทซ์กับเงินเดือนของลูกหนี้ เช่น ผมเงินเดือนไม่เยอะ ผมชำระหนี้ทุกเดือน ไม่ได้มาก ประมาณ 500-1,000 บาท แต่ล่าสุ่ดมีการบังคับให้ชำระหนี้ ไม่ได้เป็นมาตรฐานชัดเจน เพราะแต่ละคนฐานเงินเดือนไม่เหมือนกัน ปีต่อไปปรับขึ้น มันไม่สอดคล้องกับเงินเดือนของแต่ละคน ซึ่งกรณีผม เมื่อชำระไปแต่ละเดือน ดอกเบี้ยแต่ละครั้งก็ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนทำงานแต่ละคนยึดฐานรายได้ของครอบครัว ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเขาจะสามารถชำระหนี้ได้ตามกรอบเพดานที่กยศ.วางไว้ แม้จะเข้าใจว่าเป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เอกชน ปรับเปลี่ยนยาก นอกจากนี้ ระหว่างการทำงานก็เคยว่างงาน เมื่อว่างงาน จะให้มีการพักชำระหนี้ โดยประสานกับกระทรวงแรงงานได้เลยหรือไม่ ซึ่งตอนผมว่างงานก็ต้องชำระหนี้ หรือเงินเดือนไม่สูง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไปยังครอบครัวหรือตัวลูกหนี้เอง

จากนั้นนายชัยณรงค์ นำตารางการชำระเงินกู้ของกยศ.มาแสดง นายสรธัญ จึงตอบว่า หลักเกณฑ์การชำระจะปรับเพิ่มตามเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาทำงาน แต่สำหรับผม ตกงานมาแล้ว 2 ครั้ง เงินเดือนไม่ได้เพิ่มตามที่เกณฑ์ตาราง

คุณชัยณรงค์ กล่าวว่า ใครมีรายได้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตารางการชำระหนี้  สามารถขอปรับลดได้ มีเกณฑ์ผ่อนผัน ตามหน้าเว็บกยศ. มีระบุไว้ และขอรับไปพิจารณาเรื่องประสานกับกระทรวงแรงงาน

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า กยศ.เป็นเจ้าหนี้ที่มีเมตตา ลูกหนี้ก็มีมาก ตนเคยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยประจำศาล พบคดีเช่นนี้ มีเด็กมาบอกว่า ถ้ารู้เช่นนี้จะไม่รับหมายศาล เพราะเพื่อนเขาไม่มีใครรับเลย และเล่าว่าจบปวส.ต่างจังหวัด เข้ามาเรียนปริญญาตรีในกรุงเทพฯ มีเงินเดือน 15,000 จ่ายค่าหอพัก ค่ารถ ค่าเดินทาง เงินเดือนก็หมด จึงกลับบ้านไปทำงานอบต.เงินเดือน 5,800 บาท พร้อมใบบังคับคดี เด็กดังกล่าวบอกว่า ผมไม่ควรกู้เงินกยศ.ไปเรียน เรียนแล้วไม่ได้อะไร  ศาลเรียกไปเพื่อปรับปรุงหนี้ รีไฟแนนซ์ ตนห่วงว่า ถ้ามีการบังคับคดีจำนวน 1 แสนราย บอกยินดีไม่ชำระหนี้ แต่ยินดีติดคุก กรมราชทัณฑ์ต้องรับคน 1 แสนไปดูแล เราต้องดูแลคน 216 คนต่อเจ้าหน้าที่ 1  คน มากกว่าประเทศอื่นในโลก

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า กรณีนี้ เห็นด้วยกับดร.กมล เราจะ ยกเลิกดอกเบี้ย เราควรให้โอกาสเด็ก ไม่คิดดอกเบี้ยดีหรือไม่ เมื่อไหร่มีเงินก็ไปชำระให้หมด วิธีการนี้ดีที่สุด ดีกว่าจะทำให้คนเดินเข้าคุก ถ้าคนยอมเข้าคุก เพราะผลพวงทำให้คนติดคุกเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

คุณกานรวี ใจดี ลูกหนี้ กยศ.แสดงความคิดเห็นว่า ถูกบังคับคดีและกำลังจะถูกยึดทรัพย์ มีเพื่อนอีกหลายคนถูกบังคับคดีและยึดทรัพย์ไปแล้ว จากนั้นมีบุคคลภายนอกประมูลซื้อไปและโทร.มาบอกว่า จะขายคืนให้นราคาสูงกว่าความจริง เราเดือดร้อนการผ่อนชำระสูง ถูกฟ้อง ไกล่เกลี่ย แต่ก็ยังสูง ขอให้เมตตาผู้ที่กำลังจะถูกยึดทรัพย์ มีทางออกช่วยเร่งด่วน ของตนจะมีหมายศาลยึดในเดือนธันวาคมนี้ แม้จะบอกว่า ไกล่เกลี่ยแล้วยืดระยะเวลา 5 ปี หนี้ของตน 3 แสน ตอนนี้เงินเพิ่มขึ้นไป 5 แสน ทุกวันเป็นแม่ค้าฟู้ดสตรีท เดือนละ 1.5 หมื่น ถือว่าหนักมากสำหรับเรา ไม่ไหว ขอความเห็นใจแก้ปัญหากลุ่มอย่างเร่งด่วน ยึดได้แต่ขออย่าขายทรัพย์ของเรา

ดร.พะโยม กล่าวสรุป ว่า การลงทุนในบุคคลที่จำเป็นรากฐานของชีวิต เป็นเรื่องสำคัญมาก และรัฐบาลพยายามแก้ไข เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม วันนี้ ทางกยศ.ก็จะได้ทิศทาง แนวคิด นำไปปรับใช้ สิ่งใดที่สามารถผ่อนปรน ปรับแก้ ก็ขอให้ทำ และจะนำแนวคิดของกยศ.ที่เสนอแนะมา เข้าไปแก้ปัญหาให้ถูกทิศทาง ตามกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ นอกจากนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะรายให้กับลูกหนี้กยศ. ถ้าทำได้ก็ขอให้ทางกยศ.ดูแลลงลึกให้ด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ดร.กมล กล่าวสรุปตอนท้าย ว่า สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ ขอย้ำถึงคำพูดของหัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล ว่า เด็กเรียนจบได้รับปริญญาคนละใบ แต่สำหรับประเทศไทย ได้ 2 ใบ คือได้ใบแจ้งหนี้มาด้วย พรรคเราเมื่อได้มีโอกาสทำงาน ก็จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ขอให้ผจก.กองทุน ทำเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อเด็กให้มากที่สุด และ ง่ายต่อการปฏิบัติของเด็กมากกว่าปัจจุบัน ประการต่อไปเราจะยกเลิกการมีผู้ค้ำประกัน เราให้เด็กเลือกทำงานแทนการชำระเงิน โดยเฉพาะการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หน่วยงาน และเด็กมีรายได้สามารถนำไปหักดอกเบี้ยหรือเงินกู้กยศ.ได้ ต่อไป เด็กไทยต้องไม่มีดอกเบี้ยจากเงินกู้กยศ.ทุกคน ทั้งผู้ที่ใช้หนี้ไปแล้ว ถือว่าหักกลบลบหนี้กันไป หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้หนี้ เด็กที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ถือเป็นทุนการศึกษา เด็กที่เรียนในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน ก็ให้ยกประโยชน์ให้เป็นทุนการศึกษากับเด็กเหล่านั้น

“จำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการสำหรับผู้ถูกบังคับคดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีถูกยึดทรัพย์ อาจต้องตั้งคณะทำงานเข้ามาจัดการปัญหานี้ได้ ถ้าเป็นไปได้ อาจมีการตั้งบรรษัทเพื่อบริหารจัดการหนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี และท้ายที่สุด หากจำเป็นต้องถึงกับการนิรโทษกรรมการชำระหนี้ ก็จะต้องทำ วันนี้เราเ สนอกฎหมายไปแล้ว อีก 1-2 เดือน จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อแก้ไขและติดตามกฎหมายดังกล่าว”


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่