ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือน้ำท่วมของรัฐบาล ที่ถูกสงสัยว่าทำไมจึงช้ากว่าเอกชน ว่า การที่เอกชนหรือใครก็ตาม แม้กระทั่งนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่ลงไปช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องดี ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบอะไร แต่เงินที่ได้รับบริจาคเข้าเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยของรัฐบาลนั้น มีระเบียบตายตัว มีกรอบของมันอยู่ ต้องตรวจสอบความเสียหายและรายงานผ่านทางจังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
“อยู่ดีๆ จะไปถือเงินแจก ทำอย่างนั้นเหมือนเอกชนไม่ได้ เพราะถ้าทำได้มันจะเกิดการเลือกที่รักมักที่ชัง เช่น บ้านนี้ตำบลนี้อำเภอนี้เป็นหัวคะแนน เอาไปเลย 2 หมื่น บ้านโน้นไม่รู้อย่างไรเอาไป 2 พัน จำได้หรือไม่ มีรัฐบาลสมัยหนึ่ง มีกองทุนทำนองนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่พื้นที่นี้ได้ 2 ล้าน อีกพื้นที่ให้ 7 ล้าน ทุกวันนี้คดียังอยู่ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยังไม่ตัดสินเลย อย่างไรก็ตาม เงินบริจาค เมื่อเข้ามาอยู่ในกองทุนก็อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทันที” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า เงินในส่วนที่รัฐบาลรับบริจาค เมื่อเอาไปช่วยประชาชนผู้ประสบอุทกภัย อาจจะซ้ำกับเงินส่วนของนายบิณฑ์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่ซ้ำ เพราะทางนายบิณฑ์ช่วยเหลือบรรเทาไปเพื่อซื้ออาหาร ประทังชีวิตเฉพาะหน้า แต่เงินของกองทุนจะเอาไปช่วยเรื่องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซื้อปศุสัตว์คืนให้เขา หรือเอาไปใช้ในการฟื้นฟู แต่ไม่รวมถึงการทำถนนหนทาง เพราะส่วนนั้นใช้งบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่เงินบริจาค ดังนั้นวัตถุประสงค์ต่างกัน
“กลไกมันก็เป็นเช่นนั้น แต่การช่วยเหลือล่าช้าในที่นี้คือช่วยเหลือในความหมายของการเข้าไปถึงประชาชน แต่การเข้าไปถึงที่เกิดเหตุ และเข้าไปจัดการป้องกันอย่างอื่น ได้ทำไปก่อนล่วงหน้าแล้ว อย่างจังหวัดไหนที่น้ำไม่ท่วมก็ลงไปจัดเรื่องการจราจร ต้องเลี่ยงคนออกนอกเส้นทาง ในส่วนของพระสงฆ์ก็อาจจะลำบากกว่าชาวบ้าน เพราะฉันวันละมื้อสองมื้อ ไม่เหมือนการช่วยชาวบ้าน”