หน้าแรก news “อนุทิน” กอดคอ “มนัญญา” ลุยหักด่านอรหันต์ “แบนสารพิษอันตราย”

“อนุทิน” กอดคอ “มนัญญา” ลุยหักด่านอรหันต์ “แบนสารพิษอันตราย”

0
“อนุทิน” กอดคอ “มนัญญา” ลุยหักด่านอรหันต์ “แบนสารพิษอันตราย”
Sharing

เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ประเทศไทย ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นครัวของโลก แต่กลับปล่อยให้เกษตรกรใช้สารพิษอันตราย อย่าง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งมีฤทธิ์ตกค้างร้ายแรงถึงตาย  ดูแลพืชผลทางการเกษตร สวนทางกับนานาชาติ ที่ทยอยเลิกใช้กันไปแล้ว

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อัพเดทข้อมูลล่าสุด ถึงเหตุผลที่ต้องแบนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส สรุปว่า สารข้างต้นมีฤทธิ์อันตรายร้ายแรงทั้งต่อสุขภาพของผู้ใช้โดยตรง คือเกษตรกร และต่อผู้บริโภคผลิตผล รวมทั้งยังไปทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

พาราควอต (Paraquat) หรือยาฆ่าหญ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ เพียงสัมผัสโดนผิวหนังก็อาจเป็นแผลพุพอง หรือเผลอโดนตา ทำให้ตาบวม แดง อักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง สูดดมเข้าไปก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการท้องเสีย ถ่ายมีเลือดปน มีฤทธิ์ทำลายสมอง เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคพาร์กินสัน ส่งผลต่อเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และเสียชีวิตทันทีหากร่างกายได้รับเพียง 1-2 ช้อนชา โดยฤทธิ์ของยาทำลายจุลินทรีย์ในดิน ส่งผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำ

ไกลโฟเซต (Glyphosate) เป็นสารควบคุมวัชพืช มีความเสี่ยงก่อมะเร็ง เข้าไปทำลายโรงงานพลังงานในเซลล์ต่างๆ ก่อตัวเกิดโรคมะเร็งน้ำเหลือง โรคไต โดยศาลแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เคยตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดจากการฉีดพ่น

คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เป็นสารกำจัดแมลง ที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมและลำไส้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านจิตใจของเด็กเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ร้อนถึง “นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องออกมาเดินนำหน้าภารกิจแบนสารพิษอันตราย โดยประกาศว่าภายในต้นปี 63 ต้องไม่มีการใช้สารพิษเหล่านี้ในประเทศไทย

พร้อมลงพื้นที่โรงเรียนปอวิทยา อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ตรวจสอบสุขภาพนักเรียน ก่อนพบว่า มีสารพิษตกค้างในเลือดนักเรียนกลุ่มตัวอย่างมากถึง 97% ผลการทดสอบกระตุ้นสังคมให้ฉุกคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าจัดการเรื่องสารพิษภาคเกษตรอย่างจริงจัง

ได้ประชาชนมาหนุนแล้ว แต่ขั้นตอนปฏิบัติกลับไม่หมู เพราะว่ากันว่าเครือข่ายฝ่ายหนุน 3 สารพิษ มีอิทธิฤทธิ์ไม่ธรรมดา

ทุกครั้งที่รัฐมนตรีมนัญญา เดินหน้าเรื่องดังกล่าว มักจะติดอุปสรรคหลายอย่าง

ล่าสุด เพียงขอข้อมูลว่ามีการสำรองสารพิษไว้ใช้จำนวนเท่าไร ปรากฏว่ารอแล้ว รอเล่า เฝ้าแต่รอ ข้อมูลจากทางภาครัฐก็ยังส่งมาไม่ถึง

จนนางสาวมนัญญาต้องบุกกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อขอข้อมูลด้วยตัวเอง ให้ทุกฝ่ายรู้ว่า นโยบายนี้ ท่านรัฐมนตรีช่วยฯ “เอาจริง” จนกลายเป็นเสียงซุบซิบว่านางสาวมนัญญาเข้มงวดเกินไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการทำงานที่ไม่ทันการ

ที่นางสาวมนัญญาอ่านเกมกลุ่มคลื่นใต้น้ำออก จึงท้ากลับไปว่า “หากไม่ปลื้มวิธีการทำงาน ก็ให้เอาคนมาปลด แต่ในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

พูดชัดๆ สั้นๆ แต่ได้ใจสังคม

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยฯ สายบู๊ รุกคืบอีกครั้ง ขอให้กรรมการวัตถุอันตราย “เปิดหน้า” ฝ่ายหนุน ฝ่ายต้านการใช้สารดังกล่าว ย้ำเหตุผลว่า อยากให้ประชาชน ฟังความเห็นของทุกฝ่าย

“ความจริงคนที่ทำก็ต้องรับ ถ้าเกิดเขาต้องการเอาสารพิษ 3 ตัวนี้ไว้ เขาก็ต้องรู้ว่าเอาไว้เพราะอะไร มันมีส่วนดีอย่างไร ก็ต้องออกมาบอกพี่น้องประชาชน เพื่อชี้แจงให้กระจ่างชัด ต้องออกมายอมรับในสิ่งที่เขา”

นางสาวมนัญญารุกหนัก

เกมนี้ ไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้แสดงบทบาทชัดเจนว่าคอยปกป้องดูแลอยู่ข้างหลัง ด้วยการประกาศชัดเจนว่าเป็นปฏิปักษ์กับ 3 สารพิษ

“เห็นคนเจ็บคนป่วยจากสารพิษเหล่านี้แล้ว ยังจะสนับสนุนให้ใช้กันอีกหรือ ส่วนตัว เมื่อเห็นผลลัพท์แล้ว จะให้ใช้สารพิษดังกล่าวต่อไป ก็ลำบากใจ”

ซึ่งที่ผ่านมา นายอนุทิน ยืนยันชัดเจนมาตลอดว่าต้องการแบน 3 สารพิษ และกำชับให้ฝ่ายข้าราชการ สธ. ส่งข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของ 3 สารพิษให้กระทรวงเกษตร นำไปใช้ศึกษาเป็นข้อมูลอ้างอิง

และด้วยตำแหน่งรองนายกฯ ต้องถือว่านี่เป็นแนวหนุนที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับพรรคภูมิใจไทยเอง ถือเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะผลักดันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าว

เป็นที่น่าสนใจว่า พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญ 4 ท่าน เป็นตัวแทนของพรรค แต่ละคนต้องเรียกว่า “สายแข็ง” ได้แก่

1) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาสุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แกนนำการต่อต้าน 3 สารเคมี ที่มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข 2) รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการวัตถุอันตราย 3) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ที่มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ใหญ่ที่สุด 4) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ในการขับเคลื่อนนโยบายคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร

ชัดเจนว่าพรรคภูมิใจไทย มี “ความจริงจัง” กับเรื่องแบน 3 สารพิษเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเชิญ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ และนายวิฑูรย์ เข้าร่วม จะมา “เล่นๆ” ไม่ได้อีกต่อไป

ด้วยพลังแห่งความกดดัน จึงทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องลงมาลุยเรื่องนี้

พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งเรื่องมาถึงกระทรวงอุตสาหกรรม  ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและกระทรวงอุตสาหกรรม นำข้อเท็จจริงจากความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข ที่ยืนยันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจากพาราควอต ไปประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอตที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีผลโดยเร็ว

หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563

ณ วินาทีนี้ ด้วยการรุกไล่ของนางสาวมนัญญา เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีช่วยฯ สวยสั่งลุย” ผนึกกำลังแนวร่วม ส่งผลให้ฝ่ายหนุนสารพิษต้องถอยฉากตั้งหลัก

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่