“มติชน” รายงานว่า วันที่ 20 กันยายน ที่จ.อุบลราชธานี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ส.ส. อุบลราชธานี ประกอบด้วย นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เขต1 น.ส. กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส. เขต 3 นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส. เขต 4 นายรัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์ ส.ส.เขต 5 นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส. เขต 7 นายประภูศักดิ์ จินตเวช ส.ส.เขต 9 นายสมคิด เชื้อคง ส.ส. เขต 10 บลอุบลราชธานี พรรคพท. รวมถึงส.ส.พรรคพท. จากทุกภาคกว่า 30 คนร่วมลงพื้นที่ เพื่อระดมกำลังช่วยเหลือพี่น้องชาวจ.อุบลราชธานี ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ตั้งแต่เขตอ.เมือง อ.เขื่องใน อ.วารินชำราบ อ.ตาลสุม ไปจนถึง อ.พิบูลมังสาหาร
โดยคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า หน้าที่และจิตสำนึกของส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่น้ำเริ่มท่วมทุกคนอยู่ในพื้นที่ไม่ใช่แต่จ.อุบลราชธานีหรือพื้นที่ที่น้ำท่วม แต่ทุกพื้นที่ทำงานอย่างหนัก เราอยู่กับพี่น้องประชาชนยามที่เขามีความทุกข์ หน้าที่รับนายกฯ ไม่ใช่หน้าที่ของส.ส. หน้าที่การเอาอกเอาใจนายกฯ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของส.ส. เพื่อไทย หน้าที่ส.ส. ของเราคือการไปเอาอกเอาใจประชาชน
ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกอะไรที่ส.ส.อุบลฯ จะยุ่งกับการช่วยเหลือประชาชน ตัวเราเองไม่เคยพูดถึงนายกฯ เลย เราก็ทำงานของเรา การประสานงานก็ประสานผ่านสภาฯ ถ้านายกฯ อยากทำงานให้ประชาชน ก็นำความเดือดร้อนที่ฝ่ายค้านได้สะท้อนในสภาฯ ไปดำเนินการแก้ไข วันนี้ชาวบ้านไม่มีใครลงไปช่วย ซึ่งการที่ส.ส. ของเราลงไปร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ เราทำงานด้วยกันอยู่ทุกวัน แตกลับเป็นวันที่นายกฯ มาลงพื้นที่เสียอีกที่ข้าราชการต้องมารอรับนายกฯ ไม่มีใครอยู่กับชาวบ้าน เวลาชาวบ้านเดือดร้อนเราไม่เคยคิดแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งฝ่ายอยู่แล้ว และไม่เคยอยากจะแย่งกันเอาหน้า หรือเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น นายกฯ อาจจะเข้าใจอะไรผิดไปพวกเราไม่ถือสา เราจะก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป
เมื่อถามว่ามาตรการที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือคืออะไรบ้าง คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เราพูดกันมาตั้งแต่เกิดภัยแล้งแล้ว จนมาถึงน้ำท่วม เราบอกตลอดว่าอยากให้ช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านจากไร่ละ 1 พันกว่าบาท เป็น 2 พันเสีย และให้จ่ายทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม เนื่องจากชาวบ้านเดือดร้อนมาก ซึ่งเงินที่ให้ไปจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้เราได้ทำเป็นข้อเสนอไปยังสภาฯ แล้ว ว่าการจ่ายเงินชดเชยควรทำให้เสร็จไม่เกินเดือนต.ค. เพราะเผื่อชาวบ้านจะทำการเกษตรได้ในฤดูนาปรัง ถ้าให้เงินเขาช้าจะทำการปลูกนาปรังไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเงินทุน
เมื่อถามว่า เงินบริจาคที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันทีต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบก่อน คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เรื่องเงินบริจาคถือเป็นส่วนน้อย จริงๆ เรามีงบกลางและงบฉุกเฉินอยู่แล้ว ซึ่งระเบียบผ่อนปรนให้ใช้ในสภาวะฉุกเฉินได้ วันนี้เรายังไม่เห็นการใช้งบส่วนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วเพียงพอในการดูแลประชาชน ส่วนงบช่วยเหลือในการชดเชยอาจจะต้องมีระเบียบโดยต้องลงไปสำรวจพื้นที่เสียหาย ซึ่งอยากให้รีบลงไปสำรวจเสีย วันนี้รัฐทำได้สองอย่างคือใช้งบกลางงและงบฉุกเฉินที่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที เราขอร้องว่าให้เอาออกมา เพราะที่นายกฯ บอกฝ่ายค้านไม่มีงบก็จริงอยู่ เราจึงต้องใช้แรงกายแรงใจและทุนทรัพย์ส่วนตัวเราไปช่วยชาวบ้านเท่าที่ช่วยได้ งบน้อยเราก็มาบ่อยเพื่อมาช่วยชาวบ้านเอา แต่คนที่มีงบเยอะไปไหน งบประมาณอยู่ไหน อยากให้นำงบฟื้นฟูเตรียมการตั้งแต่วันนี้เพื่อนำเข้าครม. เพราะเมื่อวานนายกฯ มาก็ยังไม่เห็นมีการสั่งการเรื่องนี้ แต่หากสั่งการแล้วก็เป็นเรื่องที่ดี
เมื่อถามว่า หากประเมินการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล ทั้งในแง่การบริหารจัดการและอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า อย่าให้ประเมินเลย แต่ถ้าเป็นเราที่เคยทำมา คือต้องเร่งตั้งศูนย์อพยพเพราะรู้ว่าน้ำจะลงจุดไหน ต้องเอาประชาชนออกมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น ไฟดูด การขนข้าวของ ก็จะได้มีเวลาเตรียมตัว ตนมาที่จ.อุบลฯ 3 ครั้งแล้ว ศูนย์อพยพในแต่ละจุดแทบจะเรียกศูนย์อพยพไม่ได้ เหมือนชาวบ้านตั้งเต้นท์กันเอง เหมือนใช้ผ้าใบ ผ้าผ่ม มาคลุม ซึ่งฝนก็ตกทุกวัน โรคก็เป็นคนก็ป่วย การบริหารจัดการไม่ใช่การใช้งบเยอะๆ แต่หมายถึงการต้องบริหารให้ถูกและช่วยประชาชนให้ทันท่วงที
จากนั้นเวลา 10.30 . แกนนำพรรคพท. พร้อมส.ส. ได้ร่วมกันลำเลียงของบริจาคคนละไม้คนละมือ และปล่อยคาราวานช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดนเริ่มจุดแรกที่ ที่สะพานกุดปลาขาว อ.วารินชำราบ ท่วมกลางสายฝนที่ตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง