น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลฟอเซต ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้รับตัวเลขสต๊อกของสารเคมีมาแล้ว แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ในเวลานี้ และ ต้องการลงพื้นที่สุ่มตรวจและเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เพราะประชาชนเป็นผู้บริโภค ฉะนั้นต้องรู้ข้อมูลว่า สิ่งที่บริโภคเข้าไปนั้นมีความเป็นพิษหรือไม่
“สารเคมีทั้ง 3 ชนิด อยู่ตรงไหน ประชาชนจับตาดูอยู่ แล้วคุณบอกว่ามีอยู่เป็นหมื่น แล้วตอนนี้ขายไปแล้วอยู่เท่าไหร่ ณ วันที่ตรวจเหลืออยู่เท่าไหร่ และอยู่ในท้องตลาดอีกเท่าไหร่ แต่ตอนนี้มีข้อมูลตรงนี้อยู่แล้วว่าสต๊อกมีอยู่ขนาดนี้ รู้แม้กระทั่งร้านค้าจำหน่ายอยู่แห่งหนตำบลใด เมื่อมีการยกเลิก ของเหล่านี้ต้องหายไป ไม่ใช่การยืดระยะเวลาขายของ เราไม่ต้องการให้ยืดระยะเวลาขายของ เราต้องการให้สาร 3 ชนิดนี้ขาดไปเลย แต่ตราบใดคณะกรรมการวัตถุอันตราย ต้องยืดมติไปอีก 2-3 เดือน เป็นโอกาสให้การขายสารเคมีสามารถยืดออกไป ทั้งที่ ไม่สามารถนำเข้ามาได้”
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ปฏิบัติการวันนี้ต้องการตรวจสอบการนำเข้าการนำเข้าสารเคมีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งทราบว่ามี 5 ชนิดประกอบด้วย สารป้องกันกำจัดโรคพืช และป้องกันกำจัดแมลง รวมถึงมีการตรวจสอบตัวอย่างสารให้เป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกต กระบวนการนำเข้าสารเคมีที่มีการปะปนกันมามากกว่าหนึ่งชนิดในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันใช่หรือไม่ เช่น 3 ตู้ มี 3 สารปนกันอยู่ในแต่ละตู้ ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบ และอาจมีการปลอมปนเข้ามาได้ จึงเสนอให้มีการแยกสารแต่ละชนิดอยู่แต่ละตู้
นอกจากนี้ยังสอบถามถึง สินค้าเกษตรต่างๆที่นำเข้ามาด้วย เช่นเมล็ดผักชีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สำหรับสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต หลังจากที่ถูกสั่งห้ามนำเข้าตั้งแต่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสารเคมีอันตรายที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมปรากฏว่าไม่พบมีการนำเข้าผ่านด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ แม้จะไม่มีการนำเข้า 3 สารเคมีดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังคงค้างอยู่ในสต๊อก
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า การที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ยังไม่มีมติออกมาชัดเจน และขอยืดระยะเวลาพิจารณาออกไป ก็เท่ากับปล่อยให้สารเหล่านี้สามารถยืดการขายต่อไปได้อีก
จากนั้นเดินทางต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางปู เข้าไปที่บริษัทเเห่งหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า พาราควอต และไกลโฟเซต เพื่อตรวจสอบสต็อคการนำเข้าและคงค้าง โดยเจ้าหน้าที่บริษัทให้ข้อมูลว่า ปี 2562 ได้นำเข้าสารทั้ง 2 ชนิดจริง มีใบอนุญาต โดยพาราควอต นำเข้า 190 ตัน ส่วนไกลโฟเซต นำเข้า 370 ตัน
ขณะเดียวกัน มีอีกหนึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าของเดียวกัน สามารถนำเข้าได้เพียงสารพาราควอต ซึ่งปี 2562 นำเข้ามาแล้ว 54 ตัน โดยสารทั้ง 2 ชนิด ได้จำหน่ายต่อให้กับร้านค้า และบางส่วนอยู่ในมือเกษตรกรแล้วจึงไม่มีสต๊อคตกค้างที่บริษัท
ทั้งนี้ทีมงานของรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ได้ขอเอกสารการนำเข้าและปริมาณของสารเคมีอันตรายทั้งสองชนิด เพื่อนำกลับไปตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ เบื้องต้นพบว่าตัวเลขไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ นางสาวมนัญญา ถือโอกาสตรวจสอบสารกำจัดแมลงและศัตรูพืช ไดคลอร์วอส และควินคอลแรก ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนำเข้าจากประเทศจีน บรรจุอยู่ในถังพลาสติก 200 ลิตร รวมทั้งหมด 32,000 ลิตร ซึ่งทีมงานของรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ได้มีการเก็บตัวอย่างของสารไปตรวจสอบว่าตรงตามที่แจ้งนำเข้าหรือไม่
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า แค่อำนาจของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่สามารถที่จะแบน 3 สารเคมีอันตรายได้ทันที แต่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกัน ซึ่งการแบนจะส่งผลกระทบกับผู้นำเข้าและผู้เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะมีการยกระดับโรงงานที่นำเข้าให้มีมาตรฐานสากล รัดกุมมากกว่านี้
“จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการ แจ้งให้ทราบด้วยว่ามีสารเคมีที่สามารถทดแทน 3 สารเคมีอันตราย(พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต) ซึ่งเกษตรกรก็ทราบอยู่แล้วว่ามีสารทดแทน สำหรับตัวเลขของบริษัทที่นำเข้าสารเคมี กับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ที่ไม่ตรงกัน จะต้องไปดูอีกครั้งว่าเพราะอะไร
สำหรับการดำเนินการต่อไปนั้น จากหนังสือสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ภาคส่วน นั้น จะป็นกลไกในการทำงานซึ่งจะขอเสนอตัวเองเป็นประธานกรรมการชุดนี้ เพื่อมาแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มั่นใจว่าจะสามารถทำงานแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน และอาจจะเสร็จก่อนเวลาดังกล่าวด้วย