หน้าแรก news “อนาคตใหม่” เย้ยรัฐสอบตกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ห่วงวิกฤติโลกรอบนี้ยาวนาน

“อนาคตใหม่” เย้ยรัฐสอบตกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ห่วงวิกฤติโลกรอบนี้ยาวนาน

0
“อนาคตใหม่” เย้ยรัฐสอบตกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ห่วงวิกฤติโลกรอบนี้ยาวนาน
Sharing

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ แถลงข่าวประเมินการทำงานของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในรอบสองเดือนที่ผ่านมา พร้อมเสนอทางออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะปัจจุบัน

โดยนางสาวศิริกัญญาระบุว่า มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาเม็ดเงินยังน้อยเกินไป ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืน สามารถทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจแต่ยังไม่สามารถกระตุ้นได้ มาตรการส่วนใหญ่มีความผิดฝาผิดตัว มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านเงินโอนมีตัวคูณทางการคลังค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 0.4

“มาตรการที่ออกมาเป็นการกระตุ้นในระยะสั้นมากๆ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่วิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่ระยะสั้นอีกต่อไป ต้องใช้เวลาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค มาตรการต้องใหญ่กว่านี้และขยายระยะเวลาออกไป” นางสาวศิริกัญญากล่าวเริ่มต้น

สำหรับมาตรการสามตัวที่ออกมาแล้ว ได้แก่แพคเกจ 3.16 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นช้อปชิมใช้, การช่วยเหลือค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, และการช่วยเหลือ SME มีแค่ 1 แสนล้านบาทที่โอนเงินโดยตรง ที่พอจะหวังพึ่งได้ ที่เหลือเป็นวงเงินกู้ ทั้งนี้มาตรการช้อปชิมใช้ ก็มีลักษณะของการยิงกราด เม็ดเงินแค่ 15,000 ล้านบาทเศษๆ เอาทั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ประมาณ 1 แสนล้านบาท ถ้าไปดูในรายละเอียด มีตลาดประชารัฐ สินเชื่อ SME ภาคเกษตร สินเชื่อธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน ก็ไม่มีอะไรใหม่ เคยใช้มาแล้วซึ่งถ้าได้ผลก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงอยากให้มีการทบทวนมาตรการในส่วนนี้

ประกันรายได้เกษตรกรตอนนี้ครอบคลุม 3 พืช ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน 7 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังน้อยเกินไปที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที แต่ก็เข้าใจว่าการใช้จ่ายขณะนี้มีปัญหา เนื่องจากกำลังจะหมดงบปี 62 ยังไม่ผ่านงบปี 63 ให้ได้ทันเวลา ดังจะเห็นได้ว่ามีการขุดงบกลางตั้งแต่ปี 61-62 มาใช้

นางสาวศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าเศรษฐกิจไทยมีความน่ากังวลกว่าที่คิดเยอะ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็จะเริ่มชะลอตัว นักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษกิจเกือบทุกประเทศลงหมด ผู้ว่าการธนาคารกลางหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ออกมาประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยกันหมดแล้ว พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจพยุงตัวไปได้ ในส่วนของประเทศไทยเอง เมื่อต้นปีเจอภัยแล้ง กลางปีเจอน้ำท่วม รายได้เกษตรที่เคยคิดว่าน่าจะทรงตัวก็มีแนวโน้มขาลง รายได้นอกภาคเกษตรเริ่มส่งสัญญาณหดตัวลงแล้ว จำนวนชั่วโมง OT ถูกตัดแล้ว 8% การบริโภคในประเทศเริ่มแผ่วจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่หดตัว ธุรกิจปิดตัวเพิ่มขึ้น 10% ในเดือนสิงหาคม ข่าวเลย์ออฟถี่ขึ้น ยอดผู้รับประกันว่างงานสูงกว่าปี 52 ถึง 24% (ปี 52 – 152,751 คน ปี 62 – 190,002 คน) โดยที่โครงสร้างตลาดแรงงานไม่เปลี่ยนแปลง คือเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นไม่มาก

“ที่ผ่านมาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจย้ำว่าทุกวันนี้คนค้าขายไม่ได้เพราะทุกคนไปช้อปออนไลน์กันหมด เป็นการท่องคาถาซ้ำๆ แต่วันนี้ท่านพูดแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะแม้แต่คนค้าขายออนไลน์ก็เริ่มบ่นถึงความฝืดเคืองกันแล้ว” นางสาวศิริกัญญากล่าว

นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมาการลงทุนของประเทศไทยก็พลาดเป้า ก่อสร้างเจ็บหนัก ส่งออกหดตัว การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่ควรจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจก็ทำไม่ได้ตามเป้า โดยเฉพาะงบลงทุนกระทรวงใหญ่ใหญ่ที่ได้งบลงทุนเกินหมื่นล้าน มีการเบิกจ่ายล่าช้ามาก มีการเบิกจ่ายโดยเฉลี่ยแค่ 55% เท่านั้นเอง กระทรวงกลาโหมเบิกจ่ายเพียง 42% มหาดไทย 47% สาธารณสุข 51% การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าจะส่งผลต่ออย่างแน่นอนในไตรมาสสุดท้าย กว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ก็คงจะเป็นหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ผ่าน ที่จะยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่ระบบจนกว่าจะถึงต้น ม.ค.ปีหน้า งบลงทุนทุกอย่างจะโดนแช่แข็งไว้หมด เม็ดเงินที่ควรลงกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐก็จะแห้งเหือดต่อไป

นางสาวศิริกัญญากล่าวว่า ดังนั้น รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่และแรงกว่านี้ ซึ่งยังพอมีช่องว่างให้ทำได้ ขอเสนอให้ออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆรัฐบาลก็มีการทำกันเป็นเรื่องปกติ เช่นไทยเข้มแข็ง, อนาคตไทย 2020 ถ้าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เราเห็นด้วย แต่ต้องออกเป็น พรบ เพื่อให้สภาตรวจสอบ เสนอว่าจะต้องมีลักษณะ 3 T อย่างที่นายธนาธนเคยเสนอไว้ คือ targetted – มีเป้าหมายที่ชัดเจน, timely – มีระยะเวลาที่เหมาะสม, temporary – เกิดขึ้นชั่วคราว

 

ดังนั้นพัฒนาคตใหม่จึงขอเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ข้อ ให้รัฐบาลออกในลักษณะ พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อันประกอบไปด้วย

1.ปรับโครงสร้างหนี้ภาคเกษตรโดยด่วน งบประมาณลงไปที่ ธกส. เป็นหลัก ทุกวันนี้อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ใช่สินเชื่อนนโยบายสำหรับลูกหนี้ชั้นดีของ ธกส.ยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับลูกหนี้ลั้นดีในธุรกิจอื่นๆ ลูกหนี้ชั้นดีควรได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าลูกหนี้รายอื่นๆ ส่วนลูกหนี้ที่หมดศักยภาพจ่ายหนี้แล้ว เช่นผู้ป่วยทุพลภาพ ก็ควรมีการยกหนี้ให้

2.โครงการลงทุนเพื่อปรับภาครัฐให้ทันสมัยมากขึ้น (Modernize Public Sector) ให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตคน เช่นการบริหารจัดการน้ำ ที่ยังด้อยประสิทธิภาพ จากที่เราไปศึกษามาหลายพื้นที่ไม่ต้องใช้เม็ดเงินเยอะ ถ้ากระจายได้ทุกที่จะทำให้เกิเดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย, การลงทุนในโรงเรียนรัฐบาล, โครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตรที่รัฐจัดหา เช่นไซโลหรือห้องเย็นเก็บสินค้าเกษตรสำหรับองค์การคลังสินค้า, งบปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว เช่นด้านการขนส่งสาธารณะ ที่ผ่านมาเราปรับปรุงแต่ดีมานด์ ไม่ได้ปรับปรุงซัพพลายในด้านการท่องเที่ยวเลย

3.รัฐต้องทำหน้าที่เป็น kick-starter ช่วยซื้อสินค้าและบริการที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศนี้เพราะไม่มีออเดอร์หรือออเดอร์น้อยเกินไป เช่นรถเมล์เล็กและรถเมล์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ที่สามารถนำไปใช้ในสถานที่ราชการอย่างโรงพยาบาลของรัฐได้

4.มาตรการที่ไม่ใช่มาตรการด้านการคลังอื่นๆ กระตุ้นเศรษฐกิจในฐานราก เ่นการเปิดเสรีสุราชุมชนและคราฟต์เยียร์ ให้ชาวบ้านมีอิสระในการผลิตสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน, การระงับโควต้านำเข้าพืชผักผลไม้เกษตรเป็นการชั่วคราวไปก่อน เป็น safeguard measure เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศมาตีราคา ต้องคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวได้, การปรับวัตถุประสงค์ในที่ดิน สปก. เป็นต้น

5.ชะลอการใช้เงินลงทุนที่ไม่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ เช่นการซื้ออาวุธ อย่างรถเกราะล้อยาง M1126 Stryker 2,480 ล้านบาท, เฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธ AH6i 12,000 ล้านบาท ที่ไม่มีโลคอลคอนเทนท์ กลายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอื่น ต้องชะลอการลงทุนในประเภทนี้ไปก่อน

“ทีนี้ถ้าถามว่ากู้เงินแล้วประเทศจะล่มจมหรือไม่ จริงๆแล้วตอนนี้สถานะทางการคลังยังพอไหว สามารถด่อหนี้เพิ่มได้อยู่บ้าง คนส่วนมากจะดูที่ยอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง แต่ที่สำคัญกว่าคือภาระหนี้ต่อรายได้ เหมือนกับเวลาเราไปกู้เงินธนาคาร จะดูว่าเราเงินเดือนท่าไหร่ ผ่อนค่างวดไหวหรือไม่ ซึ่งถ้าดูภาระหนี้ต่อรายได้ของไทย ตอนนี้อยู่ที่ 8-9% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงและกู้เพิ่มได้” นางสาวศิริกัญญากล่าว

นางสาวศิริกัญญายังกล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ควรต้องมีการกำหนดวงเงินสำหรับทำการติดตามประเมินผลนโยบายไว้ด้วย เนื่องจากผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีการประเมินผลทำให้การดำเนินโยบายไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่