หน้าแรก Article หมดเวลาง้อ ! “อนุทิน” ผนึก “ศักดิ์สยาม” บี้ CPH เซ็นสร้างรถไฟ 3 สนามบิน

หมดเวลาง้อ ! “อนุทิน” ผนึก “ศักดิ์สยาม” บี้ CPH เซ็นสร้างรถไฟ 3 สนามบิน

0
หมดเวลาง้อ ! “อนุทิน” ผนึก “ศักดิ์สยาม” บี้ CPH เซ็นสร้างรถไฟ 3 สนามบิน
Sharing

ทั้งยึดเงินประกัน ทั้งให้เป็นแบล็กลิสต์ ทั้งต้องจ่ายส่วนต่าง เป็นคำแสลงที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สะกิดกลุ่ม CPH ให้มาเซ็นรับสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา – ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ ที่ฝ่าย CPH ชนะการประมูล แต่ดันพลิ้ว ไม่ยอมเดินหน้างานเสียที

จนฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายอนุทิน ที่เป็นรองนายกฯ กำกับดูแลเรื่องคมนาคม ต้องออกโรงบี้ฝ่ายเอกชน ให้เริ่มลุยได้แล้ว เพราะโครงการดังกล่าว คือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะผลักดันให้โครงการ EEC ฉลุยไปข้างหน้า

งานนี้ ผู้ชนะประมูล เป็นการรวมพลังของหลายกลุ่มทุน ภายใต้ชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์

การก่อสร้างข้างต้นมีมูลค่าเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะช่วยเหลือการก่อสร้างประมาณ 1.17 แสนล้านบาท

แถมฝ่ายเอกชน ยังได้ที่ดินทำเลทอง 150 ไร่บริเวณสถานีมักกะสันมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้าน ทั้งยังได้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านแถมพกไปด้วยอีก

เห็นชื่อทีม CPH และผลพลอยได้ที่ตามมา หลายฝ่ายมองว่ากลุ่ม CP น่าจะรีบเซ็นสัญญา สร้างข้อผูกมัดกับรัฐโดยทันที ปิดช่อง มิให้ใครเสนอหน้ามาหยิบชิ้นปลามัน แต่ไฉนจึงพลิ้ว ไม่ยอมลงมือทำงานแบบหักปากกาเซียน

คำตอบมาจากนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่ม ซี.พี.กังวลหลัก คือ แหล่งเงินกู้ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และปัญหาการส่งมอบพื้นที่ ที่เอกชนมองว่าแผนส่งมอบยังไม่ชัดเจน ตามแผนจะใช้เวลาเคลียร์ให้เสร็จ 2-3 ปี ทั้งที่ดินบุกรุก เวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภค

ทั้งนี้ อาการยื้อของ CPH ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องของการส่งมอบพื้นที่เท่าไรนัก แต่หลักๆน่าจะมาจากประเด็นเรื่องแหล่งเงินกู้เป็นสำคัญ

ด้วยเพราะหากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า กระทบกับการก่อสร้าง ย่อมเป็นเรืองที่ภาครัฐ ต้องรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถกระทำตามสัญญาได้

แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า CPH กำลังมองหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น ธนาคารไชน่าดีเวลอปเมนต์ของจีน (CDB) ซึ่งต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันผู้โดยสารและค้ำประกันหนี้ของรถไฟกรณีที่ขาดทุน

แต่ภาครัฐไม่ยอมเจรจาด้วย แถมยังส่งรองนายกรัฐมนตรีชื่ออนุทิน ชาญวีรกูล เข้ามาจัดการ เรื่องจึงเป็นอย่างที่เห็น คือ การเร่งให้ CPH ทำงานตามสัญญา

เพราะทราบกันดีว่าเรื่องการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน นายอนุทิน นับว่าเป็นกระบี่มือต้นๆ ของประเทศไทยรู้ลึกรู้จริงเล่ห์เหลี่ยมฝ่ายเอกชนเป็นอย่างดี

และยิ่งพยายามจะต่อรอง ก็ยิ่งเสียเวลา มากความ ดังนั้นรองนายกฯอนุทิน จึงปิดเร่งจบเกมเร็วด้วยการระบุให้ CPH ต้องมาเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม เท่านั้น เพราะหากรอช้ากว่านี้ เกรงจะสายเกินแก้ เพราะจะหมดเวลาการยืนราคา

ท่านรองฯ อนุทิน ประกาศว่า

“หากกลุ่มซีพีเอชไม่มาลงนามภายในวันที่กำหนด คณะกรรมการคัดเลือกฯจะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 มาเจรจาต่อ โดยกลุ่มซีพีเอชจะถูกริบหลักประกันซอง 2,000 ล้านบาท และอาจถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ทิ้งงาน ซึ่งจะทำให้กลุ่ม CPH หมดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้เสนอรายที่ 2 มีราคาก่อสร้างสูงกว่าราคาที่กลุ่มซีพีเอชเสนอ กลุ่มซีพีเอชต้องจ่ายส่วนต่าง จึงต้องการให้ผู้ชนะประมูลดำเนินการโครงการต่อไป” 

โดยนายอนุทิน กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่าเป็นรากฐานสำคัญของโครงการ EEC ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนอักโข หากโครงการก่อสร้างดังกล่าวฉลุย การลงทุนอื่นๆ จึงจะตามมา งานนี้ เป็นภารกิจเพื่อชาติ

แน่นอนว่าท่าทีของท่านรองฯอนุทินที่ออกลูกขึงขังจริงจัง ทำเอากลุ่ม CPH สะดุ้งเฮือกเหมือนกัน ที่สำคัญดูเหมือนภาครัฐจะเอาจริงกับงานนี้ เพราะไม่ปล่อยให้กลุ่ม CP ได้แก้เกมเลย แถมยังปิดจุดอ่อนทุกช่องทาง พร้อมยกรายละเอียดตามสัญญามาเตือนสติผู้ชนะการประมูลกันดังๆ

ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมเปิดเผยว่า

หากจะมีการฟ้องร้องกันนั้น ขอให้รู้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และภาครัฐเดินตามกรอบ สัญญา แต่ถ้าผู้รับจ้างมองว่ามีปัญหาก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้ และกว่าจะถึงเวลาลงนามสัญญา เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว จะอ้างว่าทำมาทัน เตรียมการไม่ทัน ย่อมไม่ได้ และถ้าหากวันที่ 15 ตุลาคม ผู้ชนะประมูลไม่มา ก็ต้องให้ผู้เสนอราคารายที่ 2 มาเจรจาต่อ

“ซึ่งหากไม่มาลงนามตามกำหนดไว้จะถูกริบหลักประกันซองมูลค่า 2,000 ล้านบาทตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ในเอกสาร RPF ข้อ 56.5 ได้มีการระบุถึงกรณีการริบเงินหลักประกันซองได้แก่

1.ผู้ยื่นข้อเสนอขอถอนเอกสารข้อเสนอของตนในช่วงเวลาที่เอกสารข้อเสนอยังไม่หมดอายุ 2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่เสนอไป ตามที่ระบุไว้ในข้อ 46.การแก้ไขข้อผิดพลาด และ3.ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแต่ไม่ดำเนินการลงนามในสัญญาร่วมทุน หรือยื่นหลักประกันสัญญา ตามข้อ 57.1

รวมถึงจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการพร้อมทั้งขึ้นบัญชีดำต่อไป”

ที่ผ่านมา ภาครัฐมักจะยอมอ่อนข้อให้ภาคเอกชน กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาและเรื่องถึงศาล ก็มักจะพ่ายแพ้เป็นประจำ อาทิ ค่าโง่โฮปเวลล์ที่เป็นคดีดัง ซึ่งรัฐต้องจ่ายให้เอกชนนับหมื่นล้านบาท และวันนี้ ยังหาแม่งานผู้รับผิดชอบไม่ได้

เป็นบทเรียนอันเกิดจากการ “โอ๋” ภาคเอกชนมากเกินไป เนื่องจากสมัยนั้นบริษัทโฮปเวลล์ มีการขอเลื่อนระยะเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นสร้างไม่เสร็จ ขณะที่ภาครัฐตัดสินใจยกเลิกสัญญา กลายเป็นช่องให้เอกชนฟ้องคืน จนชนะคดีในที่สุด

มาในยุคปัจจุบัน ด้วยมีการเรียนรู้จากอดีต และมั่นใจว่าต่อให้ยกเลิกสัญญากับผู้ชนะการประมูล ก็ยังมีตัวเลือกที่พร้อมเข้ามาทำงานอีกมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ดี ได้ผลตอบแทนเหมาะสม ที่สำคัญยังจะได้กลุ่ม CPH ช่วยเหลือส่วนต่างๆ กรณีเสนอราคาสูงกว่า แล้วได้งานไปดูแล

จึงไม่แปลกใจที่นายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม จะไม่อ่อนข้อให้เอกชน

กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่นับจากนี้ ทุกอย่างต้องรันตามสัญญา และเอกชนจะไม่ใช่ฝ่ายที่ถือไพ่เหนือรัฐเสมอไป

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่