หน้าแรก Article “ภูมิใจไทย” นำทัพ บี้คณะกรรมการวัตถุอันตราย แบนสารพิษ

“ภูมิใจไทย” นำทัพ บี้คณะกรรมการวัตถุอันตราย แบนสารพิษ

0
“ภูมิใจไทย” นำทัพ บี้คณะกรรมการวัตถุอันตราย แบนสารพิษ
Sharing

นับย้อนกลับไปประเด็นเรื่องการแบนสารพิษ จุดติดมาตั้งแต่ปี 2560 เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ดำเนินการออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส”

นำมาซึ่งการดำเนินการของภาครัฐ และภาคประชาสังคมในการผลักดันแนวทางดังกล่าว แต่ทว่า ยังไม่ประสบผลสำเร็จแม้จะล่วงเวลาไปเกือบ 2 ปี ส่วนสำคัญเพราะคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีความเห้นแย้งกับมติของคณะกรรมการข้างต้น และยังปล่อยให้มีการจำหน่าย และใช้สารพิษอันตรายอยู่

ย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562  มีการเปิดเผยภายหลังการประชุมหาข้อสรุปเรื่องการห้ามใช้พาราควอตของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงว่าที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียงสนับสนุนให้มีการใช้สารพาราควอต

ส่วนที่เหลืออีก 5 เสียงงดออกเสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามมติเดิมที่ระบุว่า ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ลงเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

สร้างความผิดหวังให้กับภาคประชาสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นมติที่ออกมาภายหลังจากที่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น ประกาศจุดยืนต่อต้าน 3 สารพิษ แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าว ก็ยังมีมติให้ใช้สารพิษต่อไป

ความหวังที่เคยริบหลี่ กลับมามีแสงสว่างอีกครั้ง หลังการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กินดี ปลุกความกล้า ประกาศท่าทีเดินหน้าแบน 3 สารพิษ ระหว่างนั้น มีการงัดง้างกับฝ่ายข้าราชการประจำปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

ก่อนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะออกมาหนุนจุดยืนของนางสาวมนัญญา กลายเป็น 2 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ปะฉะดะกับกองหนุนสารพิษเต็มที่

เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าใจ เพราะเมื่อ 2 รัฐมนตรีเอาจริง ปรากฏว่าพรรคภูมิใจไทย รับลูกเดินหน้าต่อทันที โดยร่วมมือกับภาคประชาชนเดินหน้าดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นรูปธรรม

ทางพรรค เสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบการใช้สารเคมีของสภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย 4 ท่าน

1) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาสุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แกนนำการต่อต้าน 3 สารเคมี ที่มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข

2) รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการวัตถุอันตราย

3) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ที่มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ใหญ่ที่สุด

4) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ในการขับเคลื่อนนโยบายคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร

เห็นชื่อแล้วต้องเรียกว่าถูกใจประชาชน หลังจากนั้นฝ่ายหนุนสารพิษเดินหน้าเล่นเกมนอกกรอบมีการข่มขู่ฝ่ายต้านสารพิษ จนนายอนุทิน ต้องออกมาปราม ประกาศจะใช้กฎหมายจัดการ

การขับเคลื่อนของพรรคภูมิใจไทย กดดันให้ฝ่ายการเมืองต้องกลับมาทบทวนจุดยืนเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

ส่งผลให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ออกมาแสดงจุดยืนพร้อมต้านสารพิษ เช่นเดียวกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

แน่นอนว่าฝ่ายการเมืองที่ดาหน้าปฏิเสธสารพิษ ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการโหวตครั้งต่อไป

สำนักข่าวไทย รายงานว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งอีก 17 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงเกษตรฯ พลังงาน สาธารณสุข เป็นต้น ร่วมด้วยอธิบดีหลายกรม เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร รวมทั้งเลขาธิการ อย. และผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

 

โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ มาจากผู้แทน 3 กรม คือ กรมธุรกิจพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้แทนจาก อย.ด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมี “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี” ไม่เกิน 8 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และกฎหมาย และ “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนองค์กร” อย่างน้อย 4 คน ที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ที่ผ่านมา นายอนุทิน และนางสาวมนัญญา 2 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย เสนอให้คณะกรรมวัตถุอันตรายโหวตเอา ไม่เอาสารพิษ แบบเปิดเผยต่อสาธารณชน

อยากเห็นหน้าคนหนุน “พาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส”

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่