ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงเรื่องการแบนสารพิษ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของสังคม ว่า ประเด็นดังกล่าว เป็นประเด็นสาธารณะมานานแล้ว มีงานวิจัยมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของสารพิษทั้งพาราควอต, โกรโฟเซต และคลอร์ไฟริฟอส และลาว กับจีนก็แบนไปแล้ว แต่ของไทยเพิ่งมีความคืบหน้าเมื่อฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยเอาจริงเอาจัง
สะท้อนผ่านท่าทีของรัฐมนตรีของพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรงนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ต้องขอขอบคุณท่านที่ยืนเคียงข้างชีวิตประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากสารพิษมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแบนได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ยังมีท่าทีไม่ชัดเจน โดยโครงสร้างด้านใน เป็นส่วนประกอบของหลายกระทรวง ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข น่าจะเดินตามจุดยืนของนายอนุทิน แต่ของกระทรวงอื่นนั้น ยังไม่ทราบว่าจะเอาอย่างไร
“ท่าทีของคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ชัดเจน รัฐมนตรีจากบางพรรคก็ยังไม่ชัดเจน โยนลูกกันไปมาระหว่าง รัฐมนตรีกับคณะกรรมการ ในขณะที่สังคมจับตามองตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรซ่อนเร้นหรือเปล่า มีผลประโยชน์อื่นหรือไม่ ในความไม่ชัดเจนนั้น อยากให้รัฐมนตรีคนอื่นๆ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายสร้างความชัดเจนกับประชาชน”
ผศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า ของสาธารณสุข น่าจะไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ข้าราชการขึ้นป้ายแบนกันพร้อมเพรียง แต่จะแบนได้หรือไม่ต้องอยู่ที่ความจริงจัง จริงใจ ของรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องท่านอื่นๆ อย่าเพียงแต่พูด แต่ต้องทำให้ชัด อาทิ ถ้ารัฐมนตรีบอกว่าไม่เอาสารพิษ พูดกับสื่อ แสดงท่าทีขึงขังไปแล้ว แต่ข้าราชการในคณะกรรมการวัตถุอันตรายดันไปโหวตสนับสนุนให้ใช้สารพิษ ทางรัฐมนตรีจะทำอย่างไร ต้องสอบไหม ต้องย้ายไหม หรือจะจัดการอย่างไร เพราะถือว่าไม่สนองนโยบายแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็เหมือนเสือกระดาษ