ดร.สามชาย ศรีสันต์ อ.ประจำสถาบันพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หลัง oxfam จัดอันดับให้ไทยเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวมากที่สุดในโลก ว่า ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ตรงกับข้อมูลของธนาคารสวิส สอดคล้องกับความเป็นจริง
ทั้งนี้ ประเทศไทย มีปัญหาเรื่องนี้มานานมาก แต่ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังหลังรัฐประหาร 49 ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏมายาวนานต่อเนื่อง
“ความเหลื่อมล้ำ ตีความได้ถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม โอกาส หากกางแผนที่ประชามติ จะพบว่า พื้นที่ซึ่งปฏิเสธ รธน.ปัจจุบัน คือ พื้นที่ เหนือ อีสาน 3 จังหวัดภาคใต้
เมื่อเทียบกับแผนที่อาณาจักรโบราณ ดินแดนเหล่านี้อยู่ในอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ศรีวิชัย ที่ไทย มองว่าเขาเป็นคนอื่น นำมาซึ่งการจำกัดทรัพยากรต่างๆ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมาช้านาน”
ทั้งนี้ หากมองในเรื่องการปกครอง ระบอบที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำคือระบอบเผด็จการ เพราะทรัพยากรตกอยู่ในมือ และถูกจัดสรรโดยคนกลุ่มเดียว แต่หากเป็นประชาธิปไตย ที่มีแต่การคดโกง ย่อมสร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะแม้รัฐบาล จะกระจายทรัพยากรสู่พื้นที่ห่างไกล แต่ก็ถูกผู้ไม่หวังดีชักออกหมด
เมื่อถามว่า เหตุใดคนไทยจึงทนกับความเหลื่อมล้ำได้ ดร.สามชาย ตอบว่า เพราะคนไทยถูกกระทำจนไร้เรี่ยวแรงต่อต้าน
สำหรับ รัฐบาลปัจจุบัน ดร.สามชาย กล่าวว่า กำลังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างหลงทาง เพราะกระจายรายได้ให้นายทุนนำไปใช้จ่ายต่อ แทนที่จะกระจายรายได้ให้ประชาชนโดยตรง