ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ในวันนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอชื่อบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชุดใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หลังจากที่ชุดเก่าลาออกทั้งหมด
ซึ่งภายหลังที่ประชุมอนุมัติแล้วก็สามารถเดินหน้าโครงการดังกล่าวได้เลย ไม่มีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลมีความพร้อมอยู่แล้ว และมั่นใจว่าเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ในสัญญา สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทีโออาร์ ซึ่งมีความยุติธรรม
โดยเรื่องนี้ต้องมีบอร์ดเข้ามารับทราบและเห็นชอบการเซ็นสัญญา ซึ่งบอร์ดรฟท.ชุดที่แล้ว ทั้งที่รู้ว่าต้องมีการเซ็นสัญญาก็ลาออกไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร จึงทำให้มีผลกระทบ ซึ่งการมาเป็นบอร์ดต้องดูที่ประโยชน์ของบ้านเมือง ต้องรับผิดชอบหน้าที่ ไม่ใช่นึกอยากมาเป็นก็มา เรื่องนี้แทนที่จะได้เซ็นสัญญาแล้วกับต้องเลื่อนออกไป เพราะบอร์ดพร้อมใจกันลาออกทั้งที่ไม่ได้มีความกดดันอะไรจากใครเลย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็คัดค้าน เพราะอยากให้มีการเซ็นสัญญา
“บอร์ดที่เป็นข้าราชการประจำ เราคงไปแตะต้องอะไรเขาไม่ได้ แต่บอร์ดที่มาจากข้างนอก ผมก็ดูชื่อไว้ทุกคน ตราบใดที่เรายังดูแลตรงนี้อยู่ คงไม่เสนอให้มาดำรงตำแหน่งในที่อื่นๆ เพราะเราต้องการให้เข้าไปทำงานไม่ได้เข้าไป เพื่อเป็นเกียรติยศหรืออะไร และไม่ใช่การแบล็คลิสต์ เพราะผมไม่มีอำนาจไปแบล็คลิสต์อะไร แต่ถือว่าคนพวกนี้ ทำงานร่วมกับเราไม่ได้
ถ้าจะเข้ามาใหม่ก็ต้องรอให้พวกเราพ้นจากรัฐบาลไปก่อน ผมยังได้กำชับนายศักดิ์สยามว่าจะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนและให้ความสะดวกทุกอย่างกับผู้ที่ชนะการประมูล เพื่อให้เขาทำงานให้เสร็จโดยเร็ว อะไรที่ติดขัดก็ต้องพยายามไปคลายข้อจำกัดทั้งหลายให้ได้มากที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่าให้ใครเดือดร้อน จะไม่มีการไปดึง เพราะมีความหมั่นไส้หรืออะไร” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าหากวันที่ 25 ต.ค. ยังไม่มีการลงนาม จะเป็นไปได้หรือไม่จะมีผู้ใหญ่ในรัฐบาล ไปเจรจากับบริษัทที่ชนะการประมูล เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องพูดคุยกับใคร เราทำตามข้อกำหนดและเงื่อนเวลาที่กำหนดเอาไว้ทุกอย่าง และตราบใดที่ยังไม่ถึงวันที่ 7 พ.ย.ซึ่งเป็นวันครบกำหนด รัฐบาลก็สามารถเชิญมาให้ลงนามในวันไหนก็ได้
อย่างไรก็ตาม การลงนามจะมีขึ้นในวันที่ 25 ต.ค.นี้ จะไม่มีการเลื่อน เพราะก่อนหน้านี้ตนได้เชิญนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) มาพูดคุย เพื่อให้เขามั่นใจว่า รัฐบาลจะให้ความร่วมมือทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสะดวก ไม่ให้เกิดอุปสรรค
และชัดเจนอยู่แล้วการส่งมอบพื้นที่ไม่ว่าสัญญาไหนก็ตามในประเทศไทย ถ้าส่งมอบล่าช้า เขาก็ต่อเวลาให้ ไม่มีที่ไหนที่ส่งมอบพื้นที่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และกรณีดังกล่าวเราพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ 70 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ฉะนั้นการก่อสร้างก็น่าจะเริ่มวางแผนการก่อสร้างได้
เมื่อถามต่อว่า ทางตัวแทนบริษัทได้พูดคุยกับท่านถึงความเสี่ยงที่อยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มี รัฐบาลไม่มีความเสี่ยง ความเสี่ยงของรัฐบาลคือการสนับสนุนให้บริษัทที่ชนะการประมูลทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะเราไม่ได้บังคับให้ใครเข้ามาประมูล เราเปิดขายซองประมูล ซึ่งก็มีเงื่อนไขข้อปฏิบัติทุกอย่างที่กำหนดเอาไว้ โดยบริษัทเองก็รับรู้ ดังนั้นเมื่อยื่นซองประมูลไปแล้ว มีการประกาศบริษัทที่ชนะแล้ว ทางบริษัทผู้ชนะก็ต้องทำตามเงื่อนไขและกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะออกกฎหมายแทนที่จะทำตามกฎหมาย ปัญหาถึงได้เกิดแบบนี้