สยามรัฐ รายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ตนได้ลงนามหนังสือแจ้งมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สารเคมี 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ปรับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
ในหนังสือ ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาความเห็นเรื่องนี้ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและหาวิธีดำเนินการได้ ซึ่งมอบหมายนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน คณะทำงานได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและลงมติอย่างเปิดเผย จนได้ผลสรุปดังกล่าว
พร้อมกันนี้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือแจ้งมติคณะทำงานข้างต้นให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อปรับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยด่วน ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง ดังนั้นจากนี้ไปขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะประชุมวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ว่า จะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมหรือไม่ และจะมีมติอย่างไร กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติพร้อมทำตามมติ
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร โดยสั่งการอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้ดำเนินตามนโยบายส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคทั้งประเทศ ซึ่งทุกหน่วยงานของกระทรวงฯ จะเข้าไปให้ความรู้ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และประสานหาตลาดรองรับผลผลิต
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประชุมเพื่อมีมติใหม่ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงต้องปฏิบัติตามมติเดิมในการจำกัดการใช้ โดยในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การครอบครองวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต สาระสำคัญคือผู้ขายต้องการผ่านอบรมตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดและต้องเข้าอบรมทุกๆ 3 ปี ต้องใช้เครื่องวัตถุอันตรายดังกล่าวกับพืชและพื้นที่ตามที่แสดงหลักฐานการซื้อขาย ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะต้องจัดให้มีบุคลากรเฉพาะในการขายวัตถุอันตราย ต้องแยกออกจากวัตถุอันตรายอื่นๆ และมีป้ายแสดงข้อความว่า “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” อย่างชัดเจน
ฉบับที่ 2 เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซตที่ห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ ในกรณีอยู่นอกพื้นที่ข้างต้น ให้ใช้เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ส่วนผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าวัตถุอันตรายเกี่ยวกับไกลโฟเซต ต้องแสดงข้อความในฉลากว่า เป็นวัตถุอันตรายและระดับความเป็นพิษเพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม
ฉบับที่ 3 กำหนดให้ใช้คลอร์ไพริฟอสในไม้ผลเฉพาะเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นเท่านั้น
ฉบับที่ 4 เกี่ยวกับพาราควอตโดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีข้อกำหนดการใช้อื่นๆ เช่นเดียวกับไกลโฟเซต
ฉบับที่ 5 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามมาตรา 54 (1) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
“กระทรวงเกษตรฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจำกัดการใช้ดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติใหม่อย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม ในระหว่างนี้ยินดีรับฟังข้อมูลรอบด้านจากทุกฝ่ายซึ่งในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 จะมีกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดเข้าพบ โดยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดทั้งต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ”นายเฉลิมชัย กล่าว