หน้าแรก news “รมว.พิพัฒน์” ย้ำจุดยืนท่องเที่ยวจ่อขึ้นแท่นกระทรวงเศรษฐกิจ พร้อมเปิดงาน “น้ำใจ” ชูความเป็นมิตร เจ้าบ้านที่ดี

“รมว.พิพัฒน์” ย้ำจุดยืนท่องเที่ยวจ่อขึ้นแท่นกระทรวงเศรษฐกิจ พร้อมเปิดงาน “น้ำใจ” ชูความเป็นมิตร เจ้าบ้านที่ดี

0
“รมว.พิพัฒน์” ย้ำจุดยืนท่องเที่ยวจ่อขึ้นแท่นกระทรวงเศรษฐกิจ พร้อมเปิดงาน “น้ำใจ” ชูความเป็นมิตร เจ้าบ้านที่ดี
Sharing

วันที่ 16 ตุลาคม 2562 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนา DASTA Forum 2019 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. และผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ โรงแรม Renaissance ราชประสงค์ กรุงเทพฯ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่ได้มอบนโยบายให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงาน คือ ความปลอดภัย (Safety) ความสะอาด (Green) ความเป็นธรรม (Fair) และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ(Sustainability)

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. แม้เป็นหน่วยงานที่เพิ่งเข้ามาในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในการทำงาน อพท. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ เป็นหน่วยงานต้นน้ำที่เข้ามาเติมเต็มการทำงานด้านการท่องเที่ยว ด้วยภารกิจการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับ ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นฐานสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนหน่วยงานกลางน้ำคือกรมการท่องเที่ยว และปลายน้ำคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ทำการตลาด

ส่วนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สร้างซัพพลายการท่องเที่ยวมั่นคง ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมียอดรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  รัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มีสัดส่วน 22% ต่อ GDP ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ต่อ GDP ในปี 2580 แต่ทุกวันนี้แม้รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่กลับไม่มีความยั่งยืน  เป็นภาพของการเติบโตเฉพาะฝั่ง Demand แต่ปัจจัยทางด้าน Supply กลับไม่มั่นคง อพท. ทำหน้าที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ สร้างต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยต้องออกแบบและวางแผนการพัฒนาให้เป็นไปตามกรอบความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

“จากการทำงานตามซัพพลายเชน โดยมี อพท. เป็นหน่วยงานปูรากฐานให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งต่อให้กรมการท่องเที่ยว และ ททท. ไปนำเสนอขาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงตั้งเป้าหมายผลักดันความสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยว ก้าวสู่การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ”

ปัจจัยที่จะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว คือ การมีหน่วยงานอย่าง อพท.  ที่สามารถพัฒนาจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม และชุมชน ให้มีการบริหารจัดการที่ดี การท่องเที่ยวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน เกิดการสืบสาน เกิดเป็นความสุข และรอยยิ้ม ของผู้คน ที่พร้อมจะผนึกกำลังนำพาท่องเที่ยวของประเทศไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในการแข่งขันระดับโลก รมว.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น นายพิพัฒน์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “น้ำใจ” รณรงค์การเป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยมีนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้การต้อนรับและร่วมแถลงข่าว ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคาร ททท.

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า  อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 คาดว่าจะถึงกว่า 41 ล้านคน โดยมียอดรายได้ราว 2.21 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นรายได้  1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยต้องได้รับการต้อนรับและดูแลที่ดี ตามนโยบายที่ได้วางไว้ 4 ด้าน คือ 1. การยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว (Safe) 2. การส่งเสริมความสะอาดในแหล่งท่องเที่ยว (Clean) 3. การส่งเสริมความเป็นธรรมในการท่องเที่ยว (Fair) รณรงค์และส่งเสริมผู้ประกอบการไม่ให้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และ 4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อม (Sustainability) ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism) เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น โครงการ “น้ำใจ” รณรงค์การเป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นโครงการที่สามารถกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนร่วมกันดูแลรักษา แหล่งท่องเที่ยวควบคู่กับการดูแลนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างรากฐานการเป็น “เจ้าบ้านที่ดี” ต่อไป

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. เปิดเผยว่า ททท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องการเป็นเจ้าบ้านที่ดี การส่งมอบสินค้าและบริการที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงบทบาท ความสำคัญของเจ้าบ้านที่ดี อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ ทางการท่องเที่ยวและสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว  ที่ผ่านมา ททท. มีการดำเนินการขยายผลการเป็นเจ้าบ้านที่ดีสู่ท้องถิ่น โดยการจัดทำโครงการเสริมสร้างเครือข่ายทางการท่องเที่ยวเจ้าบ้านที่ดี มีการกำหนดรูปแบบการจัดอบรมที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรระดับปฏิบัติในชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าอบรม เพื่อร่วมผลักดัน ให้เกิดการบริหารจัดการตามแนวทางเจ้าบ้านที่ดีอย่างยั่งยืนและเป็นระบบทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์องค์กรที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม (Preferred Destination) อย่างยั่งยืน ดังนั้น โครงการ “น้ำใจ” รณรงค์การเป็นเจ้าบ้านที่ดีพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นการปลุกกระแสสังคมไทยให้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย “น้ำใจ” ซึ่งเป็นเสน่ห์แบบไทยที่มัดใจคนทั่วโลก พร้อมปลูกจิตสำนึกในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีใจรักและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก

สำหรับโครงการ “น้ำใจ” รณรงค์การเป็นเจ้าบ้านที่ดีพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ในครั้งนี้ ททท. ได้ร่วมมือกับ 6 หน่วยงานพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สื่อมวลชนและสถาบันการศึกษา ได้แก่ สมาคมรถเช่าไทย สหกรณ์เดินรถพัทยา คลื่นวิทยุ จส.100 สวพ.91 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมพลังสนับสนุนการเป็นเจ้าบ้านที่ดีและมีน้ำใจกับนักท่องเที่ยว โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบเข็มกลัดน้ำใจให้กับพันธมิตรผู้ร่วมแสดงพลังน้ำใจ และมอบเกียรติบัตรพร้อมเข็มกลัดน้ำใจให้กับตัวอย่างเจ้าบ้านที่ดีที่เคยช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ในเหตุการณ์ต่างๆ จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ นายชัด อุบลจินดา, นายสุนทร อ่านเขียน, นายประวิทย์ มีเพียร และนายอธิชนม์ ฉะฉ่ำ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ปล่อยขบวนรณรงค์ สร้างกระแสพลังน้ำใจกระจายไปยังแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่ภาคประชาชนอีกด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมออนไลน์ผ่าน Facebook Fanpage : amazing ไทยเท่ และเว็บไซต์ www.namjaitat.com กับกิจกรรมพลังน้ำใจไทยไม่มีหมด เพื่อสร้างกระแสผ่านสังคมสื่อโซเชียลมีเดีย ชวนคนไทยมาแต้มน้ำใจไทยให้ทั่วโลกโซเชียลด้วยการเติมไอคอน (icon) น้ำใจให้ภาพ profile หรือ แชร์ภาพไปยัง instagram พร้อม #พลังน้ำใจไทยไม่มีหมด #namjaithai หลังจากนั้นสร้างการรับรู้เรื่องราวของน้ำใจไทย โดยการคัดเลือกภาพและเรื่องราวแห่งน้ำใจ มาสร้างเป็นมิวสิกวิดีโอ ชุด “น้ำเอยน้ำใจ” จากน้ำใจคนไทยทุกคน ซึ่งได้นำเพลง “น้ำเอยน้ำใจ” โดยนายอัสนี โชติกุล เพื่อสื่อสารเรื่องราว “น้ำใจ” ให้ชัดเจนและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนไทยได้มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งยังได้มีการจัดกิจกรรมเวิร์กชอปสร้างพลังน้ำใจ โดยเริ่มจากกลุ่มคนไทยที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มรถแท็กซี่ มัคคุเทศก์ รวมทั้งสร้างรากฐานในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และจิตอาสา ภายใต้หัวข้อ “น้ำใจ…สิ่งเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่” โดยอาจารย์จตุพล ชมภูนิช นักพูดผู้มีชื่อเสียง พร้อมทั้ง เวิร์กชอปสอนภาษาอังกฤษฉบับเจ้าบ้าน เพื่อให้ทุกคนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในทุกสถานการณ์ โดยอาจารย์สอนภาษาอังกฤษชื่อดังนายคริสโตเฟอร์ ไรท์

ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับในการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยรางวัลมากมาย อาทิ ในปี 2018 ได้รับรางวัล Best Country For People ได้รับการโหวตจากผู้อ่านนิตยสาร Conde Nast Traveller และในปี 2019 ได้รับรางวัล “Connoisseur Circle hospitality Awards 2019” รางวัล “Best Destination of the Year” อีกทั้งเมืองไทยยังได้ครองอันดับ 3 ประเทศที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกจึงได้ถูกจัดให้เป็นเมืองน่าเที่ยว ติดอันดับ 2 ของโลก โดยนักท่องเที่ยวชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม อาหารอร่อย วัฒนธรรมที่น่าหลงใหล รวมไปถึงชอบคนไทยที่มีน้ำใจ มีรอยยิ้มอยู่เสมอ ชอบช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่