(17 ต.ค.62) เพจ BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยภาพพร้อมข้อความว่า สมาคมของบริษัทผลิตและค้าสารพิษเปิดหน้าชนรัฐบาล ! หลังจากอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวค้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซตมานาน
องค์กรที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “สมาคมฯนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย” หรือ TAITA ที่จริงแล้วคือสำนักงานสาขาของ CropLife ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องส่งเสริมผลประโยชน์ของบริษัทผลิตและค้าสารพิษทางการเกษตรและพืชจีเอ็มโอนั่นเอง
สมาชิกของ CropLife คือบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ มอนซานโต้-ไบเออร์ เข้าของผลิตภัณฑ์ราวด์อั๊พ (ไกลโฟเซต) ซินเจนทา เจ้าของผลิตภัณฑ์ กรัมม็อกโซน (พาราควอต) เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ พวกเขาเคลื่อนไหวคัดค้านและปกป้องผลประโยชน์ของตน ผ่านสมาคมที่ใช้ชื่อว่า “สมาคมอารักขาพืชไทย” หรือ “สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์” ซึ่งผู้ก่อตั้งก็คือมอนซานโต้-ไบเออร์ และซินเจนทา สาขาประเทศไทย แต่เมื่อเสียงเรียกร้องให้แบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิดเริ่มดังหนาหูมากขึ้น ยุทธวิธีของพวกเขาที่ใช้วิธีการส่งคนของตัวเองหรือบุคคลที่ใกล้ชิดเข้าไปนั่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเริ่มไม่ได้ผล เพราะกรรมการวัตถุอันตรายได้กลายเป็นเป้าหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ยุทธวิธีใหม่ของพวกเขาจึงเบนเป้ามาสู่การทำงานกับมวลชนที่เป็น “กลุ่มเกษตรกร” กลุ่มต่างๆมากขึ้น ทำงานกับสื่อมวลชนมากขึ้น และทำงานกับสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบโต้กับกระแสแบนสารพิษร้ายแรงที่ไปไกลถึงขนาดรัฐมนตรีว่าการเกือบทุกคนที่เกี่ยวข้องถูกกดดันให้ต้องประกาศจุดยืนว่า “จะแบนหรือไม่แบน”
ที่ผ่านมาองค์กรที่เรียกว่า CropLife บินสูงกว่านี้มาก เช่น สนับสนุนโครงการด้านมนุษยธรรมต่างๆ โดยอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีหรือสิทธิบัตรของบริษัท ให้ทุนสื่อ และนักวิชาการไปดูงานต่างประเทศ สนับสนุนข้อมูลและให้ทุนนักวิชาการฟลูเอนเซอร์เขียนและพิมพ์หนังสือสนับสนุนพืชจีเอ็มโอ จัดทำโครงการเกี่ยวกับผึ้ง เพื่อกลบปัญหาผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ที่ส่งผลกระทบต่อผึ้ง จนถูกแบนในหลายประเทศ ฯลฯ
แต่ครั้งนี้ เมื่อตลาด 3 สารพิษในประเทศ ซึ่งมีมูลค่าตลาดต่อปีสูงถึง 20,000 ล้านบาทได้รับผลกระทบ และในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะเป็นวันชี้ขาดการแบนหรือไม่แบน เราจึงเห็น CropLife ออกมายืนอยู่ข้างหน้าเกษตรกรเป็นครั้งแรก
นี่อาจเป็นครั้งแรกในโลกที่มอนซานโต้-ไบเออร์ และซินเจนทา ซึ่งครอบครองตลาดสารพิษกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของโลก (46%) ลุกขึ้นมานำหน้าเกษตรกร เพื่อเรียกร้องให้พาราควอต สารพิษที่ 58 ประเทศแบน และ ไกลโฟเซต ซึ่งศาลตัดสินแล้ว 3-4 คดี ให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และมีคดีขึ้นสู่ศาลอีกกว่า 18,400 คดี เพื่อให้สามารถใช้ต่อไปได้ในประเทศไทย
เราเชื่อว่าไม่มีเกษตรกรคนใดต้องการใช้สารพิษเพื่อทำลายสุขภาพและชีวิตของตนเอง หากรัฐรับประกันได้ว่าเกษตรกร 400,000-500,000 รายที่ลงชื่อจะใช้ 3 สารพิษนั้น จะได้รับการชดเชยและสนับสนุนในส่วนที่ต้นทุนการผลิตของเขาเพิ่มขึ้นจริง เพื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีการจัดการวัชพืชที่ปลอดภัยกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
อย่าปล่อยให้บริษัทผลิตและค้าสารพิษแอบอ้างเอารายชื่อเกษตรกรดังกล่าวเป็นตัวประกัน เพื่อตนเองจะได้แสวงหากำไรจากสารพิษที่ประเทศตนเองก็ไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว !
ขณะที่ ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.62 นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการแถลงข่าว “แบน 3 สารเคมีเกษตร ถามเกษตรหรือยัง” ว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอุตสาหกรรมเตรียมจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองฉุกเฉิน หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติพิจารณาแบนสารเคมีทั้งสามชนิด เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเกษตรกร เพราะยืนยันได้ว่าข้อมูลของภาคประชาชน (NGO) ที่นำออกมาเผยแพร่เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มได้มีการเสนอข้อมูลผลงานวิจัยไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว ไม่ยอมรับมติของคณะทำงาน 4 ฝ่าย เพราะไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงแต่เป็นการอุปโลกน์ เพื่อมากดดันการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ส่วนสารเคมีที่คาดการณ์ว่าจะนำมาใช้ทดแทนพาราควอตและไกลโฟเซตที่ชื่อ กลูโฟซิเนตนั้น ก็เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ที่มีราคาสูงกว่าพาราควอตจากถังละ 500 เป็นประมาณ 2,500 บาท ขณะเดียวกันประสิทธิภาพต้องใช้เพิ่มขึ้น 1.5 – 2 เท่า เท่ากับเกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 12 – 14 เท่าตัว