วันที่ 18 ตุลาคม 2562 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรองประธานกรรมาธิการงบประมาณหลายสมัยพิจารณาการจัดทำงบประมาณและการชี้แจงร่างงบประมาณปี 2563 ของรัฐบาลแล้ว เห็นว่า หากสมาชิกรัฐสภาโหวตรับรอง ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่มีปัญหานี้ขึ้นจะเสี่ยงเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงรัฐมนตรี ข้าราชการประจำกระทรวงอาจจะกลายเป็นคนกระทำผิดกฎหมายไปด้วย เนื่องจาก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ว่า เงินแผ่นดิน หมายรวมถึง เงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิและผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา ร่าง พรบ. งบประมาณนี้แล้ว กลับมีเพียงเงินจัดเก็บจาก 3 กรม และเงินนอกงบประมาณเพียงบางส่วน เท่านั้น ไม่มีการนำรายการรายได้ ของรัฐ ทั้งเงินนอกงบประมาณอีกจำนวนมากที่รัฐจัดเก็บ เงินกู้ที่รัฐเอาไปทำโครงการต่างๆ หรือแม้แต่รายการทรัพย์สิน ที่ดินของรัฐที่ให้เอกชน ทำประโยชน์ มาจัดทำ ในร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเลย จึง ไม่แน่ใจว่าเป็นการ แอบแฝง งบประมาณหรือทรัพย์สินเหล่านั้น ไปไว้ที่ไหน
นายวรวัจน์ยังตั้งคำถามอีกว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐ ทุกองค์กร เอาเงินไปใช้ โดยไม่ผ่านกระบวนการจัดทำงบประมาณตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในอนาคต ถ้าถูกเรียกเงินคืนจะทำเช่นไร เพราะมีการออกพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ฉบับใหม่กำหนด ความรับผิดตามมาตรา 52 กำกับเอาไว้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานรับงบประมาณ ผู้ใดจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพัน หรือโดยรู้อยู่แล้วยินยอมให้การกระทําดังกล่าวนั้นโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ นอกจากความรับผิดทางอาญาแล้ว จะต้องรับผิดชดใช้เงินงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณได้จ่ายไปหรือต้องผูกพันจะต้องจ่าย ตลอดจนค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ให้แก่หน่วยรับงบประมาณนั้น บุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทําตามวรรคหนึ่ง จะต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำการฝ่าฝืนด้วย
นอกจากนี้ นายวรวัจน์ยังกล่าวอีกด้วยว่า การกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นชัดๆแบบนี้ ถ้าเป็น ศรีธนญชัยจะออกยังไงเมื่อมนต์วิเศษก็ไม่มีแล้ว ปล่อยให้ทำผิดแบบนี้ ใครต้องรับผิดชอบ เม็ดเงินที่ถูกใช้ไป โดยไม่เป็นไปตามกระบวนการงบประมาณ รัฐมนตรี, ส.ส., สว.หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงระบบการบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นอัมพาต พิกลพิการแน่ เพราะ รวมทั้งต้องคดีอาญา เพราะอาจถูกเรียกเงินคืนถึง 3.2 ล้านล้าน จึงอยากจะบอกกับรัฐบาลว่าควรนำร่าง พรบ.งบประมาณนี้กลับไปทำมาใหม่ให้สมบูรณ์ หรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรเร่งแก้เสีย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
“จึงขอให้ฉายาร่างพรบ.งบประมาณปี 2563 ว่า เป็นพรบ.ฉบับพิกลพิการเพราะนอกจากจะเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ สร้างหนี้สินอนาคต ให้ประเทศ การจัดงบประมาณแบบนี้ ประเทศไทยยากที่จะปลดหนี้ สาธารณะที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีแต่รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ประชาชนก็จะยากจนลง ประกอบกับรัฐบาลก็ไม่สามารถรีดภาษี เอามาตั้งเป็นงบประมาณใหม่ที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้เลย” นายวรวัจน์กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภาพรวมในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า ผ่านครึ่งทางมา ต้องยกเครดิตให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ยกระดับการอภิปรายให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น นำเสนอด้วยเหตุผลและมีข้อมูลเชิงลึก แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปให้ได้ โดยเฉพาะในวาระรับหลักการ (วาระแรก) หลังจากนั้นในขั้นตอนของการแปรญัตติ ก็ถือเป็นอีกกลไกสำคัญ ที่จะทำให้แรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลอาจลดน้อยลง หรือเพิ่มขึ้นก็ได้ ผ่านการปรับลด หรือเพิ่มงบประมาณ เท่าที่สังเกตการอภิปราย การตอบคำถามของรัฐบาล ยังมีความไม่รู้และไม่เข้าใจอีกหลายจุด ลักษณะตอบไม่ตรงคำถาม ไปไหนมาสามวาสองศอกจึงขอเสนอแนะรัฐบาลให้เปิดใจให้กว้าง รับฟังความเห็นต่างบนพื้นฐานที่เชื่อว่าทุกฝ่ายล้วนปรารถนาดีต่อประเทศชาติและประชาชน
“ที่สำคัญ เป็นที่น่าสังเกตว่า ครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านเท่านั้นที่เห็นต่าง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเอง เห็นการจัดเพิ่มงบให้กระทรวงในเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับ 3 ป.คอนเน็คชั่น และลดงบในส่วนของกระทรวงพรรคร่วมรัฐบาล ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหาย” นายอนุสรณ์ กล่าว