เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่รัฐสภา (เกียกกาย) น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยระบุว่า งบประมาณนี้กำลังสะท้อนปัญหาการศึกษา ทำให้เกิดแผลใหญ่ 5 แผล และเป็นแผลเรื้อรังอีก 1 แผล ต่อการศึกษาไทย
น.ส. กุลธิดา กล่าวว่า แผลที่ 1 การลงทุนไม่ถูกจุด โดยลงทุนกับเด็กน้อยเกินไป จากสัดส่วนลงทุนทั้งประเทศ ร้อยละ 20 พบว่าลงทุนกับเด็กเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณในส่วนแผนบูรณาการศึกษามูลค่า 570,000 ล้านบาท พบว่า มีเรื่องการเรียนรู้ที่เป็นของนักเรียนโดยตรงเพียง 1,305 ล้านบาท หากเทียบเป็นเงินร้อยบาทก็คือ มีแผนเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยตรงเพียง 1 สลึง เท่านั้น จึงเป็นคำถามว่าเราได้ลงทุนกับการศึกษามากจริงหรือไม่ ทั้งที่งบประมาณของกระทรวงศึกษาที่ได้เกือบ 4 แสนล้านบาท ถือว่าได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากงบกลาง แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดอย่างงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะพบว่า งบส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่งบบุคลากร หรือในขณะที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่า อาชีวะศึกษามีความสำคัญมาก แต่เมื่อมาดูงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา (สอศ.) ได้รับกลับเป็นเพียงร้อยละ 7 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมดเท่านั้น ทั้งนี้ งบประมาณคือภาพสะท้อนถึงความจริงใจในการอุดหนุนและพัฒนาเด็กๆ ของประเทศ ซึ่ง TDRI เคยคำนวนไว้ว่า หากต้องการให้อาชีวะไทยมีความเทียบเท่าสิงคโปร์ จะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 44,000 ล้านบาท ซึ่งงบที่ได้รับในเวลานี้ถือว่าห่างไกลมาก
น.ส.กุลธิดา กล่าวอีกว่า แผลที่ 2 ใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ พบว่า มีโครงการที่สร้างภาระงานครู พาครูออกนอกห้องเรียนและไม่พัฒนาผู้เรียนอีกกว่า 3,500 ล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยดิจิตอลเทคโนโลยี 35 ล้านบาท ซึ่งในโครงการหาความเป็นดิจิตอลไม่เจอ เจอแต่ค่าเบี้ยเลี้ยงและที่พัก หมายความว่า โครงการนี้ต้องพาครูไปอบรม ครูจึงต้องออกนอกห้องเรียนแถมยังต้องใช้จ่ายเพื่อบริหารจัดการ ซึ่งโครงการแบบนี้ยังมีอีกมาก
“แผลที่ 3 เงินไปถึงเด็กจริงน้อยมาก จากงบประมาณของ สพฐ. 290,000 ล้านบาท พบว่า ไปถึงเด็กจริงเพียง 1 ใน 7 นอกจากนี้ ในส่วนงบอุดหนุนเด็กยังพบว่ามีการให้คงที่เท่าเดิมมาตั้งแต่ 2553 แม้ว่าราคาสินค้าจะพุ่งสูงขึ้นไปร้อยละ 12 ในปัจจุบัน” น.ส.กุลธิดา กล่าาว
น.ส.กุลธิดา กล่าวว่า แผลที่ 4 จัดสรรเหลื่อมล้ำ พบว่า โรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์จะได้งบประมาณ 450,000 บาทต่อคน หรือมูลค่าเท่ากับรถอีโคคาร์หนึ่งคัน ขณะที่โรงเรียนขนาดกลางทั่วไปได้รับ 300,000 บาทต่อ 134 คน หรือเท่ากับได้ข้าวสารประมาณครึ่งกระสอบต่อคน แม้ว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญแต่โรงเรียนอื่นๆก็ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันด้วย นอกจากนี้มีปัญหาของการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว โรงเรียนขนาดกลางและเล็กยังได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ครูไทยต้องเป็นทั้งแม่ครัว ช่างซ่อม ช่างปะปา เป็นทุกอย่างให้เธอ ต้องทำได้ทุกอย่างยกเว้นการทำงานเป็นครู เมื่อการทำงานได้อย่างอัตคัตและยากลำบาก ทำให้ต้องขอรับบริจาคจากภาคเอกชนหรือวัด จึงเป็นคำถามว่าทำไมหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตของของนักเรียนกว่า 30,000 โรงเรียน จึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดมาตรฐานเท่าเทียมกัน
“และแผลที่ 5 งบประมาณที่ใช้จ่ายในการศึกษาลดลง ซึ่งสิ่งที่คาดหวังคือการเห็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง แต่โดยเฉพาะหลัง คสช.เข้ามา พบว่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเทียบกับรายจ่ายรวมของรัฐนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง” น.ส.กุลธิดา กล่าว และว่า ทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำให้เกิดล้วนมีผลทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังของการศึกษาไทย ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว และอาจลุกลามไปอีกได้ นั่นคือคุณภาพที่ลดลง ถ้าไปดูคะแนนการสอบ PISA จะพบว่าไทยได้คะแนนลดลงทุกวิชา เช่นเดียวกับคะแนน O-NET ที่สอบตกครึ่งประเทศเกือบทุกวิชา และกรุงเทพฯมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด
กุลธิดา กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับสิงคโปร์ สิ่งที่แตกต่างคือ แม้จะมีประชากรลดลงแต่เขากลับเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ตอบโจทย์กับอนาคต ดังนั้น สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการศึกษาไทย ขอเสนอให้เจียดงบกลางมา 30,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มเติมโรงเรียนขนาดกลาง-เล็ก 10,000 โรงเรียน โรงเรียนละ 1 ล้านบาท ต้องพิสูจน์ว่าอาชีวะศึกษาเป็นผู้สร้างชาติจริง จึงควรได้งบเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในวัสดุและอุปกรณ์ส่งเสริมทักษะ และควรเพิ่มงบประมาณอุดหนุนรายหัวนักเรียนประถมอีก 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เงินที่สร้างภาระครู 3,500 ล้านบาทที่กล่าวไปแล้วสำหรับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ ยังสามารถนำมาอุดหนุนเด็กเล็กยากจนกลุ่มปฐมวัย 3-5 ขวบ ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ ซึ่งจะสามารถช่วยเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกกว่า 1.5 แสนคน จากที่สำรวจพบว่ามี 2.3 แสนคน ได้
ขณะที่นายเกษม ศุภรานนท์ สส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า ตนในฐานะอดีต ผอ.โรงเรียนสุขานารี และ โรงเรียนอนุบาล นครราชสีมา ขอกล่าวถึงงบประมาณการศึกษา ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก หากต้องบริหารบนความขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น ครู ภารโรง ผู้เชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น นักเรียน 50-100 คน กลับไม่มีภารโรง
นายเกษม กล่าวต่อว่า ปัญหาของครู สพฐ.จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่าปีการศึกษา 2561 ไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,089 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 50% ของโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ 30,112 แห่ง ซึ่งตามนิยามของ สพฐ. “โรงเรียนขนาดเล็ก” หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน
“ที่ผ่านมาโรงเรียนประสบกับปัญหาขาดแคลนตลอด ทำให้ไม่มีความสุขเลย บุคลากรจึงเป็นสิ่งที่ตำเป็นอย่างมากของระบบการศึกษา โรงเรียนไม่มีความเข้มแข็งจากงบประมาณที่น้อยนิด บางโรงเรียนมีงบประมาณเยอะ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะเช่นกัน ตนพูดมาจากความในใจ จากประสบการณ์ จึงขอฝากปัญหานี้ไว้กับรัฐบาลด้วย”นายเกษม กล่าว