เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวันสุดท้าย ว่า รู้สึกพอใจกับการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯในห้วง 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งตนก็รับฟังทั้งหมด สิ่งไหนที่เป็นเรื่องดีก็จะนำไปบูรณาการ ทั้งนี้ งบประมาณของแต่ละกระทรวงได้มากน้อยลดหลั่นกันไป ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการและนำปัญหาที่ใหญ่ที่สุดมาจัดการ บางครั้งต้องใช้งบประมาณบูรณาการหรืองบของกระทรวงอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ และถ้ามีปัญหาเร่งด่วนก็สามารถดึงงบกลางมาใช้ได้ ทั้งนี้ งบกลางจำนวน 4 แสนล้าน มองดูเหมือนจะมาก แต่เราใช้ในภาระต่าง ๆจำนวนมาก ทั้งเรื่องเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ยังไม่รวมถึงการช่วยเหลือน้ำท่วมซึ่งใช้งบหลายหมื่นล้าน ตลอดถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาต่างๆ ยืนยันว่าการใช้งบกลางไม่ได้ใช้จ่ายไปเรื่อยเปื่อย ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ทุกจังหวัดก็มีการเสนอโครงการเร่งด่วนเข้ามา ตนก็ต้องนำมาดูว่าสามารถปรับใช้งบประมาณตรงไหนได้บ้าง โดยเน้นในเรื่องแผนงานต่างๆ ถ้างบประมาณยังไม่เพียงพอ เราก็จะนำงบกลางเติมลงไปให้
นายกฯกล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ซึ่งวันนี้อาจไม่ทราบกันว่าทหารทำอะไรบ้าง เฉพาะกองทัพบก เรามี 7 กองกำลังที่อยู่ตามชายแดน จำนวนหลายหมื่นคนที่ต้องทำงานทุกวัน ทั้งเรื่องการสกัดกั้นสินค้าผิดกฎหมาย นี่คือหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ ซึ่งเราให้ความสำคัญ โดยได้แยก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมา และตนได้ย้ำว่าจะต้องมีโครงการลงไปในพื้นที่ ดังนั้นการทำแผนงบประมาณครั้งนี้ เราเน้นว่าทำอย่างไรให้เกิดความทั่วถึง พื้นที่ไหนเร่งด่วนก็ทำก่อน เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้เรามีแผนงานและโครงการกว่า 2,000 โครงการ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากติดปัญหาหลักอยู่ที่งบประมาณและที่ดินของประชาชน ซึ่งตามหลักการแล้ว ตนก็ยอมรับในความคิดเห็นของทุกคนว่าแต่ละคนต้องการสิ่งต่างๆ เพราะเข้าใจว่าความขาดแคลนมีเยอะ แต่เราก็ทยอยดำเนินการแก้ปัญหา ขณะที่งบประมาณมีจำกัด ต้องบูรณาการจัดสรรไป ซึ่งปัจจุบันนี้ภารกิจมีจำนวนมากที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ยอมรับว่าที่ผ่านมางบประมาณที่ใช้ไปกับการรักษาพยาบาล การแก้ไขปัญหาสินค้าการเกษตร มีเป็นจำนวนมาก และในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องคิดคือเราจะหาเงินเข้าประเทศอย่างไร การลงทุนภายในประเทศของเราเองก็ติดขัดเรื่องกฎหมาย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้ การลงทุน หลายคนก็มาบอกว่าเอื้อประโยชน์ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะภาษีเราก็ได้มาจากเขา จึงจะต้องสนับสนุนให้มีการลงทุน ดังนั้นต้องสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศของเราเอง โดยยึดกฎหมายทุกฉบับ
“ยืนยันว่านายกฯไม่มีสนิทสนมกับใคร ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น จะให้สิทธิพิเศษใครไม่ได้ ทุกอย่างต้องผ่านการประมูล ซึ่งงบประมาณตรงนี้เรามีอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท ก็จะไปช่วยเสริม ไปช่วยเรื่องการลงทุนอย่างต่ำ 20 เปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายระบุไว้ ซึ่งเราก็จัดสรรได้มากที่สุดในขณะนี้ จะเห็นว่า 20 เปอร์เซ็นต์ตรงนี้พร้อมที่จะลงทุน ทั้งในเรื่องรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน รถไฟรางเดี่ยวในต่างจังหวัดซึ่งต้องทำให้ทั่วถึง โดยเงินลงทุนทั้งหมดมาจากภาคเอกชน จากเดิมที่เป็นการลงทุนของภาครัฐอย่างเดียว โดยการกู้เงิน ก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่จำนวน 41 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่น่ากังวล หากมองตัวเลขอาจจะดูน่ากลัว แต่ก็สูงตามค่าจีดีพี ไม่อยากให้มากังวลตรงนี้เพราะเรามีขีดความสามารถในการใช้หนี้ ในส่วนของหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ขณะที่หนี้ระยะยาวก็ผ่อนชำระไป เมื่อหาเงินได้มากขึ้น เราก็ผ่อนเงินต้น แล้วก็น่าจะกู้ใหม่ได้อีกประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้จะต้องไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ต่างประเทศมีหนี้สาธารณะ 200 เปอร์เซ็นต์ แต่เขามีขีดความสามารถในการผ่อนชำระ รวมถึงมีอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งของเราก็กำลังจะเดินไปตรงนี้ แต่ต้องใช้เวลา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯยังกล่าวยืนยันอีกว่า ไม่ได้ไปขัดแย้งกับใคร ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ถ้ามาบอกว่ารัฐบาลไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันไม่น่าจะได้ ซึ่งตนเกรงว่าประชาชนจะไม่เข้าใจ สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างการรับรู้ของประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ หากทุกคนเรียกร้องพร้อมกันทั้งหมด ไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาได้ การนำหลักการของประเทศต่างๆมา ตนก็นำมาใช้ ตนรู้และผ่านการศึกษามา และตนก็เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง เอกสารหรือโครงการต่างๆที่น่าสนใจ ตนก็กลับมาดูว่าสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศของเราได้หรือไม่ แต่ปัญหาของประเทศเราติดอยู่ที่งบประมาณ และความเข้าใจของประชาชน ปัญหาในปัจจุบันมันมีมากกว่าสิ่งที่เราคิดทำ และบางอย่างก็ติดปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งตนก็โทษใครไม่ได้ และยืนยันว่าไม่ได้ทิ้งประชาชน อย่ามาแยกแยะว่ากลุ่มนี้รวย กลุ่มนี้จน เพราะคนรวยก็มีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน ในขณะที่รัฐบาลก็ดูแลเรื่องการแข่งขันให้เกิดความเท่าเทียมกัน ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร และสิ่งที่ตนจะเตือนเพราะการพูดจาในสภาฯถูกถ่ายทอดไปสู่ประชาชน และบางครั้งประชาชนเขาไม่ได้รับฟังในสิ่งที่รัฐบาลชี้แจง เขาฟังสิ่งที่ฝ่ายค้านพูด ซึ่งฟังแล้วก็ดูดีหมด ในส่วนของตนก็คิดว่าดีทุกเรื่อง แต่ต้องมาดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน