นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมกับผู้บริหารกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่จังหวัดพัทลุงพบปะพี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานภายในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางการส่งเสริมและผลักดันของดีในชุมชนให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI รายการใหม่ โดยในพื้นที่ได้นำเสนอสินค้าที่น่าสนใจ 3 รายการ ประกอบด้วย (1) กุ้งแก้ว อำเภอปากพะยูน (2) ปลาดุกสวรรค์ หาดไข่เต่า และ (3) ไข่ในหิน เกาะโคบ ในโอกาสนี้ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสินค้าดังกล่าวถึงแหล่งผลิต เพื่อสอบถามข้อมูลกระบวนการผลิตและให้แนวทางในการพัฒนาสินค้า โดยเฉพาะหากจะนำมาคุ้มครองเป็นสินค้า GI ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะสามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วย ซึ่งต้องเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีความพิเศษเฉพาะตัวที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ รวมถึงต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประสานงานร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานภายในจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำด้านการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนและแนะแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสินค้า GI อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างรายได้และความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้แต่ละจังหวัด ค้นหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพ เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ต่อไป
ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขานรับแนวนโยบายดังกล่าว และพร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ๆ อย่างเต็มที่ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งตั้งแต่ระดับฐานราก ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดพัทลุงมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง ซึ่งถือเป็นสินค้าประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ถือเป็นสินค้า GI ในลำดับต้นๆ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นข้าวชนิดพิเศษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งหาที่อื่นไม่ได้ต้องมาจากพื้นที่จังหวัดพัทลุงเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในประเทศไทยแล้ว ยังเป็น 1 ใน 4 สินค้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในสหภาพยุโรป รวมทั้งมีการส่งออกไปขายในประเทศต่างๆ เช่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น ถือเป็นการยกระดับสินค้า GI ของชุมชนและของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีชื่อเสียง ควบคู่ไปกับการสร้างความคุ้มครองให้แก่สินค้าและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยระบบของ GI