นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อสงสัยเรื่องสารทดแทน ที่จะให้ใช้แทน 3 สารที่ถูกแบน หรือ พาราควอต ไกรโฟเซต คลอร์ไพริฟอส โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้หาทางรับมือไว้แล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ ต้องเรียนให้เข้าใจก่อน เราต้องดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งถ้าสารทดแทน มีอันตรายต่อชีวิตประชาชน ก็ปล่อยให้ใช้ไม่ได้
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขร่วมแรงร่วมใจในการแบนสารพิษ แสดงพลังขึ้นป้ายต่อต้านการใช้ โดยไม่ได้นัดหมาย คิดว่าบุคลากรทางการแพทย์ น่าจะเคยเห็น เคยรักษาผู้ที่ป่วยจากสารพิษ ซึ่งบางคนเนื้อเน่า ไปถึงเป็นมะเร็ง และตระหนักว่าจะปล่อยให้ใช้ต่อไปไม่ได้ นี่เป็นหลักการ ดังนั้น สารที่มาใช้แทน ถ้าเกิดมีผลกระทบกับสุขภาพคนไทย เราเดินหน้าลุยแน่ มันเป็นหน้าที่ ที่ต้องทำ
เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องกลุ่มต้านการแบนสารพิษ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติออกมาแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ยกเว้นศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่น พร้อมยอมรับ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ของเรายังไม่จบ ต้องดูแลคนไทยต่อไป ให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุด
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกาส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอไม่ให้ไทยยกเลิกสารไกลโฟเซต ว่า เราใช้กฎหมายไทย โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้ดำเนินการภายใต้กฎหมายไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนนี้คือคำตอบดังนั้นเมื่อคณะกรรมการมีมติออก มาแล้วจะต้องทำตามมติดังกล่าว เมื่อมติบอกให้แบน แล้วคนอื่นจะมาบอกไม่ให้แบน จะมาใหญ่กว่าคณะกรรมการได้อย่างไร เพราะเขาทำภายใต้กฎหมาย ส่วนจะต้องส่งหนังสือชี้แจงกลับไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ก็แล้วแต่ เพราะหนังสือไม่ได้ส่ง มาที่ตน แต่ขอย้ำว่า สธ.ดูแลในเรื่องสุขภาพของประชาชน อะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สธ.จะสนับสนุนไม่ได้
ขณะที่ BIOTHAI วิเคราะห์กรณีสหรัฐอเมริกาส่งหนังสือคัดค้านการแบนสารไกลโฟเซต ว่า เกิดขึ้นเนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ไกลโฟเซตกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมของบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในรัฐบาลสหรัฐแล้ว เนื้อหาในหนังสือของ USDA ที่ส่งมายังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 7 คนในรัฐบาล ยังระบุว่า การแบนไกลโฟเซตจะกระทบกับการส่งออกสินค้าสหรัฐมายังประเทศไทย โดยระบุว่าจะกระทบกับการส่งออกข้าวสาลี ถั่วเหลือง และองุ่น เป็นต้น
อีกทั้ง การประกาศให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายอาจจะกระทบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐที่มีการใช้ไกลโฟเซตมายังประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากสหรัฐยังมิได้แบนไกลโฟเซต และมีการใช้ไกลโฟเซตปริมาณมหาศาลเนื่องจากการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานราวด์อั๊พในสหรัฐ และผลการตรวจพบว่าถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์หลายชนิดปนเปื้อนไกลโฟเซตในระดับต่างๆ จนรัฐบาลสหรัฐประกาศเพิ่มค่า MRL ของไกลโฟเซตหลายเท่า เพื่อให้ระดับการตกค้างในผลผลิตไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐเอง