ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแบน 3 สารเคมีกับการถูกตัดจีเอสพี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส กับการถูกตัดจีเอสพีสินค้าไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อมติของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีการเกษตร 3 ตัว พบว่า ร้อยละ 55.72 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะ ควรยกเลิกตั้งนานแล้วเนื่องจากเป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต่างชาติยกเลิกการใช้สารเคมีไปนานแล้วประเทศไทยก็ควรที่จะยกเลิกการใช้สารเคมีบ้าง ร้อยละ 19.08 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ สารพิษส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค และเห็นใจชาวเกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมี ร้อยละ 10.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้เพื่อกำจัดวัชพืชบางชนิดที่สารอื่นใช้ไม่ได้ และยังไม่มีสารเคมีตัวใหม่เข้ามาทดแทน และร้อยละ 15.02 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ เกษตรกรค่อนข้างมีรายได้น้อย ถ้าเปลี่ยนสารเคมีใหม่อาจจะต้องลงทุนเยอะ และรัฐบาลยังไม่มีสารเคมีตัวใหม่มาทดแทน ควรที่จะชะลอไม่ควรที่จะยกเลิกเลย
เมื่อถามถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการที่อเมริกาตัดจีเอสพีสินค้าไทยกับการยกเลิกการใช้สารเคมีการเกษตร 3 ตัว พบว่า ร้อยละ 21.30 ระบุว่า เกี่ยวข้องกันแน่นอน เพราะ อเมริกาเป็นประเทศผลิตสารเคมี การที่ไทยยกเลิกใช้อาจทำให้เสียผลประโยชน์ในเรื่องรายได้ที่ขาดหายไป ร้อยละ 27.90 ระบุว่า ค่อนข้างเกี่ยวข้องกัน เพราะ เมื่อไทยยกเลิกสารเคมีอเมริกาตัดจีเอสพีสินค้าไทยทันที ทำให้เห็นว่าเป็นการโต้ตอบจากทางอเมริกาอย่างชัดเจน ร้อยละ 7.95 ระบุว่า ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน เพราะ เป็นนโยบายของอเมริกาอยู่แล้ว เป็นการกีดกันทางการค้าปกติ และหากจะยกเลิกรัฐบาลก็ควรจะชี้แจงให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ร้อยละ 27.98 ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เพราะ สินค้าที่อเมริกาตัดจีเอสพีบางตัวก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสารเคมี และน่าจะเป็นผลดีมากกว่าที่ไทยส่งจะได้ส่งออกสินค้าปลอดสารเคมี และ ร้อยละ 14.87 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ/ไม่ทราบ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.66 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.92 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.31 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.67 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.49 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.51 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 6.28 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.14 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.65 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.02 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 20.91 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.23 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.03 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.87 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.87 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 20.43 สถานภาพโสด ร้อยละ 74.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.14 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 32.27 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.34 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.11 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.45 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 9.86 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.04 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.87 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 19.32 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.69 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.36 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.67 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 16.53 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.17 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.41 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.17 ไม่ระบุรายได้