วันนี้ (30 ตุลาคม 2562) เวลา 09.55 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายอู ฮัน ซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประธานเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายมัน วิน ไข่ ตัน ประธานสภาแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นาย อู โซ วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการคลัง ดร. ตัน เมี๊ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นาย นัน คิน ทวย เมี๊ยะ มุขมนตรีแห่งรัฐกะเหรี่ยง นาย อู จอ ลิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงก่อสร้าง เอกอัครราช ทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย คณะผู้บริหารระดับสูงพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธี ณ จุดกึ่งกลางสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ในการนี้ อธิบดีกรมทางหลวงได้กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 และอธิบดีกรมสะพาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้าง ได้กล่าวแสดงความยินดีในการเปิดใช้สะพานและประโยชน์ที่ประชาชนทั้งสองประเทศจะได้รับ พร้อมร่วมกันตัดริบบิ้นแสดงสัญลักษณ์การเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดได้ทดลองเดินรถข้ามแดน (Dry – run) และคณะได้เดินทางไปยังอาคารด่านพรมแดนฝั่งเมียนมาเพื่อทำพิธีส่งมอบอาคารด่านพรมแดนและถนนฝั่งเมียนมา รวมทั้งส่งมอบวัสดุอุปกรณ์อาคารด่านพรมแดนฝั่งเมียนมาแก่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาต่อไป
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานร่วมในวันนี้ นับตั้งแต่การเปิดใช้สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยในปี 2561 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา สูงถึง 1.9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดนแม่สอด ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงถึง 78,000 ล้านบาท และมีจำนวนรถวิ่งผ่านประมาณ 230,000 คัน/ปี หรือโดยเฉลี่ย 630 คัน/วัน รัฐบาลจึงมีแนวคิดริเริ่มก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ขึ้นอีกสะพานหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ” ของไทยและเมียนมา เติมเต็มแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของอาเซียน โดยหลังจากเปิดใช้สะพาน คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนที่ผ่านด่านพรมแดนแม่สอดจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี และปริมาณรถที่รถวิ่งผ่านจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 กรอบวงเงิน 3,900 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานฝั่งไทยจำนวน 2,900 ล้านบาท และอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 รัฐบาลไทยอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 232 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฝั่งไทย ค่าก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่ง เนื่องจากมีการปรับรูปแบบด้านสถาปัตยกรรมให้เข้ากับเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ รวมงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการทั้งสิ้น 4,132 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในส่วนของค่าก่อสร้างสะพาน ถนน และอาคารด่านพรมแดนในฝั่งเมียนมา ซึ่งโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ประกอบด้วย งานก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองแม่สอด เส้นทางตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 งานก่อสร้างด่านพรมแดนฝั่งไทยและเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจรับผิดชอบการตรวจผ่านแดนใช้สถานที่ให้บริการประชาชนร่วมกัน เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมปศุสัตว์ เป็นต้น และงานก่อสร้างถนนขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อจากตัวสะพานในฝั่งเมียนมา มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 12 ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน ที่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าสู่บ้านเยปู หมู่ที่ 5 เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 6 สายเมียวดี-กอกะเร็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอาเซียนหมายเลข 1 (AH1) ระยะทางรวมทั้งโครงการ 21.40 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางในฝั่งไทย 17.26 กิโลเมตร และเส้นทางในฝั่งเมียนมา 4.14 กิโลเมตร ซึ่งได้ออกแบบการก่อสร้างเป็นสะพานคานพื้นคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ก่อสร้างด้วยวิธีคานยื่นสมดุล โดยเพิ่มส่วนยื่นออกไปทั้ง 2 ข้างของเสาตอม่อ พร้อมดึงลวดอัดแรงเพื่อต้านกับน้ำหนักของส่วนที่ยื่น และดึงลวดช่วงกลางในขั้นตอนการติดตั้งชิ้นส่วนสุดท้าย เพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างทั้งหมดให้เหมาะกับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่ไม่ต้องใช้ค้ำยันจากพื้นด้านล่าง มีโคมไฟที่ผสมผสานศิลปะของทั้ง 2 ประเทศ ที่เป็นเอกลักษณ์ของสะพาน โดยนำลวดลายและความอ่อนช้อยของลายกนกศิลปะของไทย มาแต่งเติมสีสันตามแบบฉบับของประเทศเมียนมาคือสีทองและสีเขียว สร้างความสวยงามและสะท้อนถึงมิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ
สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 จะเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก เพิ่มศักยภาพการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ช่วยลดปัญหาการจราจรแออัดของสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 รองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงอาเซียนกับภูมิภาคอื่น ๆ และส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามนโยบายของรัฐบาล