เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2562 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหาร ศธ.สัญจร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 : พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง โดยมีนายสรสินธุ์ ไตรจักรภพ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายประเสิรฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารหน่วยงานในองค์กรหลัก ตลอดจนศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียง ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคนไทย ให้มีคุณภาพ มีความใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้ มีความรู้เท่าทันโลก และมีทักษะในการประกอบอาชีพตามความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน และให้รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างแท้จริง
ในส่วนของจังหวัดระยอง ซึ่งเป็น 1 ใน 6 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการ มุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนให้เหมาะสมกับศักยภาพและบริบทของพื้นที่ และความต้องการประเทศ โดยหน่วยงาน 3 ส่วน คือ สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและกลไกการขับเคลื่อนภาคประชาชน ตามแผนนุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง สร้างระบบการบริหารวิชาการ นวัตกรรม ตำรา และสื่อการเรียนรู้ ตลอดจนจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้ รวมไปถึงการสังเคราะห์องค์ความรู้ ระบบ กลไกต่าง ๆ เพื่อบริหารยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวชื่นชมการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัด “หลักสูตรระยองมาโคร” ภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างมีระบบ เพื่อสร้างผู้เรียนให้เป็นพลเมือง 4.0 ด้วยหลัดคิดของการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (4.0 Whole School Transform) ที่จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง 7 เรื่องที่สำคัญ (7 Change) ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 25 แห่ง คือ
– แนวคิดของโรงเรียน (School Concept) : เน้นผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
– ผู้นำของโรงเรียน (School Leader) : มีความเป็นผู้นำสูง
– ครู (Teacher) : มีความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอน
– ห้องเรียน (Classrooms) : มีความยืดหยุ่นและมีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย
– หลักสูตร (Curriculum) : เน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
– วิธีสอน (Pedagogy) : การเรียนรู้เชิงโครงสร้าง และ Active learning
– การประเมิน (Evaluation) : ประเมินผลแบบ 360 องศา และการประเมินผลระหว่างเรียน
“ระยอง ถือเป็นต้นแบบในการจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยได้จัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบเพื่อดูแลคนทุกช่วงวัย ด้วยวิสัยทัศน์ “เท่าทัน เท่าเทียม ทั่วถึง สมดุล” นำไปสู่การปฏิบัติในโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 25 แห่ง ซึ่งกิจกรรมสร้างการรับรู้ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมนำร่องในช่วงบ่ายของวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกัน พร้อมจุดประกายความร่วมมือร่วมใจกัน ในการสร้างระบบการศึกษาที่จะสามารถสร้างกำลังคนที่ทันยุคทันสมัย ตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือ มีความก้าวหน้าเท่าทันหรือทำได้ก่อนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) เพื่อลงทุนตั้งกิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพในพื้นที่ EEC เป็นต้น
ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายความร่วมมือร่วมใจ เพื่อผลักดันความสำเร็จในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในนามกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทุกคน ยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว